“โอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เรื่อง ทางพ้นทุกข์” การสำเร็จมรรคสำเร็จผล ไม่ได้สำเร็จที่อื่นที่ไกลสำเร็จที่ดวงใจของเรา ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าท่านวางไว้ถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ท่านก็ไม่ได้วางไว้ที่อื่น วางที่กาย ที่ใจของเรานี้เอง นี่เรียกว่า เป็นที่ตั้งแห่งธรรมวินัย ความที่พ้นทุกข์ ก็จะพ้นจากที่ไหนเล่า คือ "ใจเราไม่ทุกข์" แปลว่า "พ้นทุกข์"เพราะฉะนั้น ได้ยินแล้วให้พากันน้อมเข้าภายใน ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า รวมไว้ในจิตดวงเดียว "เอ กํ จิตฺตํ" ให้จิตเป็นของเดิม "จิตฺตํ" ความเป็นอยู่ ถ้าเราน้อมเข้าถึงจิตแล้ว ความสำเร็จอยู่ที่นั่น ถ้าเราไม่รวมแล้ว มันก็ไม่สำเร็จ ทำการทำงานทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องรวมถึงจะเสร็จ ถ้าไม่รวมเมื่อไรก็ ไม่สำเร็จ "เอกํ ธมฺมํ" มีธรรมดวงเดียว เวลานี้เราทั้งหลายขยายออกไปแล้วก็กว้างขวางพิสดารมากมาย ถ้าวิตถารนัยก็พรรณนาไปถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ รวมเข้ามาแล้ว สังเขปนัยแล้ว มีธรรมอันเดียว "เอ กํ ธมฺมํ" เป็นธรรม อันเดียว "เอกํ จิ ตฺตํ" มีจิตดวงเดียว นี่ เป็นของเดิมให้พากันให้พึงรู้พึงเข้าใจต่อไป นี่แหละต่อไปพากันให้รวมเข้ามาได้ ถ้าเราไม่รวมนี่ไม่ได้ เมื่อใด จิตเราไม่รวมได้เมื่อใด มันก็ไม่สำเร็จ นี่แหละให้พากันพิจารณาอันนี้ จึงได้เห็นเป็นธรรม เมื่อเอาหนังออกแล้วก็เอาเนื้อออกดู เอาเนื้อออกดูแล้ว ก็เอากระดูกออกดู เอาทั้งหมดออก ดู ไส้น้อย ไส้ใหญ่ ตับไตออกมาดู มันเป็นยังไง มันเป็นคนหรือเป็นยังไง ทำไมเรา ต้องไปหลง เออนี่แหละพิจารณาให้มันเห็นอย่างนี้แหละ มันจะละ "สักกายทิฐิ" แน่ มันจะละ "วิจิกิจฉา" ความสงสัย จะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ มันเลยไม่มี สีลพัตฯ ความลูบคลำ มันก็ไม่ลูบคลำ อ้อจริงอย่างนี้ เมื่อเห็นเป็นเช่นนี้แล้ว จิตมันก็ว่าง เมื่อรู้จักแล้วก็ตัด นี่มันจะได้เป็นวิปัสสนาเกิดขึ้น อันนี้เรามีสมาธิแน่นหนาแล้ว ทุกขเวทนาเหล่านั้น มันก็เข้าไม่ถึงจิตของเรา เพราะเราปล่อยแล้ว เราวางแล้ว เราละแล้ว ในภพทั้งสามนี้ เป็นทุกข์อยู่ เรื่องสมมติทั้งหลาย จิตนั้นก็ละ ละภพทั้งสาม มันก็เป็น "วิมุตติ" หลุดพ้นไปหมด นี่ละเป็น "วิมุตติ" แปลว่า หลุดพ้นจะเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ จิตนั้นจะได้เข้าสู่ปรินิพพาน ดับทุกข์ในวัฏสงสารไม่ต้องสงสัยแน่ เวียนว่ายตายเกิดในโลกอันนี้ เรื่องมันเป็นอย่างนี้ วัฏสงสาร ทำไมจึงว่า "วัฏ" คือ เครื่องหมุนเวียน "สงสาร" คือ ความสงสัยในรูป เฮอ.. ในสิ่งที่ทั้งหลายทั้งหมด มันเลยไม่ละวิจิกิจฉาได้ซี เดี๋ยวนี้เรารู้แล้วไม่ต้องวนเวียนอีก เกิดแล้วก็รู้แล้วว่ามันทุกข์ ชราก็รู้แล้วมันทุกข์ พยาธิก็รู้ แล้วว่ามันทุกข์ มรณะก็รู้แล้วมันทุกข์ เมื่อเราทุกข์เหล่านี้ ก็ทุกข์เพราะความเกิดเราก็หยุด ผู้นี้ไม่เกิดแล้วใครจะเกิดอีกเรา ผู้นี้ไม่เกิดแล้ว ผู้นี้ก็ไม่แก่ไม่ตาย ผู้นี้ไม่ตายแล้วอะไรจะมาเกิด มันไม่เกิดจะเอาอะไรมาตาย ดูซิ ใจความคิดของเรา เดี๋ยวนี้เราเกิด เกิดแล้วก็ตาย ตายแล้วก็เกิด เกิดแล้วก็ตายอยู่อย่างนี้ มันก็เป็นทุกข์ไม่แล้วสักที พระธรรมเทศนาหลวงปู่ฝั้น อาจาโรเรื่อง ทางพ้นทุกข์ ที่มา : คัดมาจาก หนังสือรวมคำสอนจากพระป่าจากหนังสือรวมคำสอนพระสุปฏิปันโน เล่ม 1kaskaew.com ที่มาข้อธรรม : จากเว็บไซต์ “ลานธรรมจักร” Dhammajak.netลิงค์ต้นฉบับ : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=31175 ~~~~~~~~~~~~~~~ การบ้านโยมหลังจากที่ได้อ่านโอวาทธรรมพ่อแม่ครูอาจารย์ โยม 1 : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ ธรรมจากหลวงปู่ฝั้น ที่หลวงตาเมตตาส่งมา ที่ท่านได้กล่าวว่า"... นี่แหละต่อไปพากันให้รวมเข้ามาได้ ถ้าเราไม่รวมนี่ไม่ได้ เมื่อใดจิตเราไม่รวมได้เมื่อใด มันก็ไม่สำเร็จ..." หลวงตาเจ้าคะ ถ้าจิตเราไม่รวมถึงขั้นอุปจารสมาธิ มันก็ไม่สำเร็จ กราบขอหลวงตาโปรดเมตตาอธิบายด้วยเจ้าค่ะ หลวงตา : จิตรวมมาเป็นสมาธิในลักษณะต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เรียกว่า จิตรวม (เป็นสมาธิ) ทั้งหมด คือ ขณิกสมาธิ - จิตสงบอยู่กับสิ่งที่พิจารณาในปัจจุบันขณะได้ต่อเนื่อง แต่ไม่นานมากนัก อุปจารสมาธิ - จิตสงบอยู่กับสิ่งที่พิจารณาได้ต่อเนื่องยาวนาน จนจิตเห็นอริยสัจธรรม พ้นทุกข์ (นิพพาน) เรียกว่า “ปัญญาวิมุตติ” แต่จิตไม่รวมเป็นอัปนาสมาธิ อัปนาสมาธิ - จิตรวมเป็นหนึ่งกับสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องล่อจิตในปัจจุบัน เป็นเอกัคคตาจิต จนเครื่องล่อจิตดับหายไป แล้วเกิดอาการปีติในลักษณะต่าง ๆ เช่น เกิดอาการขนลุกซู่ ๆ ซ่า ๆ ซาบซ่านไปทั่วตัว กายเบาใจเบาเหมือนลอยขึ้นไปได้ เมื่อปีติดับไปก็เกิดสุข เมื่อสุขดับไปเกิดอุเบกขาฌาน เรียกกระบวนการในขั้นนี้ว่า สมถกรรมฐาน เมื่อจิตถอนออกจากความสงบในแต่ละครั้ง ก็น้อมเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาในขันธ์ห้า จนจิตสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น พ้นทุกข์ (นิพพาน) กรณีนี้ เป็นเจโตวิมุตติ ~~~~~~~~~~~~~~~ โยม 2 : หลวงตาเจ้าคะ ทุกคนไม่จำเป็นต้องเข้าถึงอัปนาสมาธิใช่ไหมเจ้าคะ แต่ต้องถึงอุปจารสมาธิ และความสงบไม่จำเป็นต้องบริกรรม หรือมีเครื่องล่อ แต่สงบอยู่กับธรรม หรือสิ่งที่พิจารณาก็ได้ใช่ไหมเจ้าคะ หลวงตา : สาธุ เป็นเช่นนั้น ~~~~~~~~~~~~~~~ หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโยโอวาทธรรมจากปุจฉาวิสัชนา2 พฤศจิกายน 2562