เรื่องการพิจารณากาย สามารถแตกออกได้หลายแง่มุม ซึ่งอยู่ในสายการพิจารณากาย (รูป) เช่นเดียวกัน พอจะยกเป็นตัวอย่างได้ดังนี้ - อสุภะกรรมฐาน คือ การพิจารณาร่างกายที่สวยงาม น่าติดใจยินดี ให้ลงสู่ความเป็นของไม่สวยงาม ไม่น่าชม ไม่น่าติดใจยินดี เพื่อให้เห็นความจริงของร่างกาย คลายจากความยึดติดยึดถือ แก้กามราคะ โดยการพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือรูปร่างกายของตนให้ตาย เน่าเปื่อย ผุพัง กลายเป็นซากศพ มีการแปรสภาพ ขึ้นอืด พุพอง หนอนขึ้น ไปตามลำดับ จนสลายกลับคืนสู่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น - อาการ ๓๒ คือ การพิจารณาแยกส่วนประกอบของร่างกายหยาบที่เห็นเป็นตัวเป็นตนอยู่นี้ ให้แยกส่วนเหมือนแยกอะไหล่รถเซียงกง โดยการถอดอวัยวะต่าง ๆ หรือพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะตั้งแต่เกิดจนถึงตายทีละส่วน เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ม้าม ตับ ปอด หัวใจ ฯลฯ อาการต่าง ๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้าเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลง มีความไม่สะอาดต่าง ๆ เป็นต้น ให้เห็นความจริงของอวัยวะต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อสิ้นความยึดติดยึดถือ ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้ว่าเป็นตัวเรา ของเรา - ปฏิกูลสัญญา คือ ความเป็นของสกปรก โสโครก ไม่น่าชม อาจจะเป็นของภายนอกที่สามารถน้อมเข้ามาภายในได้ เช่น อาหารเรปฏิกูลสัญญา การพิจารณาอาหาร ก่อนจะทานมีสภาพสวยงาม ตกแต่งในจานอย่างดี เมื่อคลุกเคล้ากับน้ำลายในปาก ถูกเคี้ยวบด กลืนเข้าสู่ระบบทางเดินอาหาร ผ่านการย่อย ผ่านการขับของเสียทิ้งทางลำไส้ใหญ่ ออกมาทางทวารเป็นอุจจาระ ร่างกายของเราเป็นโรงงานแปรรูปของเป็นปฏิกูล ควรหรือที่จะยึดถือว่ามันสวยงาม สะอาดอยู่ เช่นนี้เป็นต้น - ธาตุกรรมฐาน คือ พิจารณาสลายความเป็นตัวตนของรูปที่ยึดถืออยู่ให้กลายเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ คือแยกสมมุติที่ระบุได้ว่านี่เรียกว่าสิ่งนี้ ด้วยการแยกว่าประกอบจากธาตุอะไรมารวมกัน แล้วสลายกลับคืนสู่ธาตุตามเดิม เพื่อให้สิ้นหลงยึดมั่นถือมั่นว่าสิ่งนั้นเป็นตัวเป็นตนตามสมมุติ เช่น กระดูกในร่างกายของเรา ประกอบด้วยธาตุดินเป็นหลัก ข้างในมีเยื่อหุ้มกระดูก มีน้ำไขข้อกระดูก ซึ่งเป็นธาตุน้ำ และยังมีช่องว่างเป็นธาตุอากาศ เมื่อผ่ากระดูกออกดูจะเห็นเยื่อหุ้ม โครงสร้างกระดูกเป็นพรุน ๆ เห็นส่วนประกอบของธาตุต่าง ๆ เหล่านี้ แล้วสลายสู่ความเป็นธาตุ ทำลายไม่ให้เหลือโครงกระดูกเหลืออยู่ คืนกลับสู่ธรรมชาติ ดินกลับสู่ดิน น้ำกลับสู่น้ำ อากาศกลับสู่อากาศ ไม่เหลือตัวตนคงที่อยู่ เป็นต้น - พิจารณาความตาย (มรณานุสติ หรือ มรณัสสติ) คือ การน้อมพิจารณาว่า “ตัวเรา” ที่หลงยึดถือว่าเป็นเรานี้ รูปร่างกายนี้ ชื่อนามสกุลนี้ จะต้องตายอย่างแน่นอน ตายเดี๋ยวนี้ ตายเวลานี้ ตายด้วยวิธีต่าง ๆ ตายไม่เลือกเวลา วัยเด็กก็ตายได้ วัยผู้ใหญ่ก็ตายได้ วัยชราก็ตายได้ ความตายติดตามเราเป็นเงาตามตัวอยู่ตลอดเวลา ทุก ๆ การเกิดมีการตายอยู่ด้วย แม้จะพยายามหนีอย่างไร ความตายนั้นก็ต้องมาถึง พิจารณาความตายเพื่อความไม่ประมาท เพื่อความสิ้นความยึดถือ หากหลงรัก หลงชัง หลงโกรธ หลงอาฆาตพยาบาท หลงโลภในสิ่งใดอยู่ หากตายไปตอนนี้ก็เอาอะไรไปด้วยไม่ได้ และยังต้องไปตกอบายภูมิอีก ความตายเป็นของแน่ เหมือนจะตายลงไปวินาทีนี้ จิตจะปลงปล่อยวางสิ่งที่หลงยึดถืออยู่ เกิดก็เพื่อตาย มีก็เพื่อจาก พบกันก็เพื่อพลัดพราก สัจธรรมความจริงเป็นเช่นนี้ เมื่อสิ้นสมมุติของความเป็นตัวเรา ทุกอย่างก็กลับคืนสู่ความไม่มี เราแค่มาอาศัยธาตุธรรมชาติของโลกนี้ชั่วคราว เป็นต้น ในทางปฏิบัติไม่จำเป็นต้องแยกพิจารณาตามประเภทดังกล่าว แต่ที่แจกแจงไว้เพื่อความเข้าใจเท่านั้น ในการปฏิบัติจริง การพิจารณาแบบใดที่ถูกกับจริต คือ ใจรู้สึกปลงปล่อยวาง ก็สามารถพิจารณาต่อเนื่องได้ แล้วแต่ว่าขณะนั้นจะได้นิมิตอะไรขึ้นมา หรือถ้าไม่มีนิมิตปรากฏ ก็สามารถ “น้อม” พิจารณาสู่ร่างกายตนแบบใดก็ได้ที่ถูกจริต ตั้งแต่เกิดจนตาย อาการต่าง ๆ ความตาย เน่าเปื่อย ผุพัง จนสลายกลับคืนสู่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ตามธรรมชาติ (ถ้าน้อมร่างกายคนอื่นจะไม่นำมาสู่การปล่อยวางตัวตน) การพิจารณากายก็เพื่อให้เห็นความจริงตามกฎไตรลักษณ์ ว่ารูปร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนสิ้นความสิ้นหลงยึดมั่นถือมั่นว่ารูปร่างกายหยาบนี้ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา เป็นเพียงธาตุที่ยืมธรรมชาติมาใช้งานชั่วคราว เมื่อถึงเวลาย่อมต้องคืนธรรมชาติไป สิ่งสำคัญที่สุดในการพิจารณากายคือ “ความต่อเนื่อง” และ “สติรู้เท่าทันจิตส่งออกนอก” จากการพิจารณาที่เราใช้เป็นกรรมฐานอยู่ในขณะนั้น “ความต่อเนื่อง” เป็นปัจจัยหลักที่จะช่วยสนับสนุนให้พิจารณากายไม่ขาดวรรคขาดตอน ช่วงที่พิจารณากาย หากสามารถเก็บเนื้อเก็บตัวอยู่คนเดียว จะเป็นตัวช่วยที่ดี และดำเนินอยู่บนทางแห่งความเจริญ คือ กินน้อย พูดน้อย นอนน้อย สำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) มีอินทรีย์สังวร ไม่ให้ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่สมควร หรือไปดู ไปฟังในสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการพิจารณา ไม่คลุกคลีหมู่คณะ มีหิริ โอตตัปปะ ละอายแก่ใจ เกรงกลัวต่อบาป มีขันติ อดทนอดกลั้น ข่มใจ ระงับยับยั้ง ชั่งใจไม่ให้ไหลไปตามกิเลส พิจารณากายให้เห็นความจริงอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ต้องระวังรู้เท่าทัน “จิตที่ไปติดอารมณ์” ระหว่างการพิจารณา ให้สนใจแต่ “ความจริง” ที่ปรากฏเท่านั้น ไม่ให้สนใจอารมณ์ ความคิด ความรู้สึก หรือเวทนาที่เกิดขึ้น สนใจแต่การพิจารณากายให้จิตเห็นความจริงอย่างเดียว ระหว่างการพิจารณาจะปรากฏเวทนาในรูปแบบใดก็แล้วแต่ เช่น ความหดหู่ เศร้า เสียใจ ไม่ยอมรับความจริง เช่นนี้เป็นเวทนาที่ให้ค่าว่าเป็นลบ จิตก็จะปรากฏอาการอย่างหนึ่ง เช่น ไม่อยากพิจารณาต่อ ซึมเศร้า ก็ไม่ต้องสนใจอาการของจิต เอาแต่พิจารณากายกรรมฐานนั้นอย่างเดียว (ถ้าหลงไปกับอาการของจิต ก็จะถูกจิตหลอกให้เลิกพิจารณา) จึงไม่ให้สนใจเวทนาที่ให้ค่าเป็นลบนี้ หรืออาจเจอกับเวทนาที่เป็นบวก เช่น ความโปร่ง โล่ง เบา สบาย ตัวเบา ตัวลอยเหมือนจะเหาะได้ ซึ่งเป็นผลมาจากการพิจารณาแล้วจิตเห็นความจริง ปลงปล่อยวาง ไปตามลำดับ ย่อมมีความเบาสบายนั้น ก็ไม่ให้สนใจเวทนาให้ค่าเป็นบวกนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองจากการพิจารณากายที่ถูกทางเท่านั้น ไม่ให้ยึดถือ แล้วสนใจแต่การพิจารณากายกรรมฐานที่ทำอยู่ต่อไป ช่วงที่ “น้อมติด” เป็นนาทีทองที่ต้องเร่งความเพียร พิจารณาเช่นนั้น กัดติดจดจ่ออย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จึงจะเห็นผลจากความเพียรนั้น ถ้าขาดความต่อเนื่อง และ ขาดสติ ย่อมทำให้การพิจารณาขาดวรรคขาดตอน เดี๋ยวน้อมติดบ้าง ไม่ติดบ้าง เมื่อทำเหตุไม่ต่อเนื่อง ผลก็ไม่เกิดขึ้น ทุกอย่างเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน หากทำ ๆ หยุด ๆ จะไม่เกิดผล แล้วการน้อมใหม่ครั้งต่อไปจะเป็นเรื่องยากขึ้น เพราะจิตมันจะจำ ซึ่งเป็นกลมายาในจิตเอง ต่อไปจะน้อมอย่างนั้นไม่ได้อีก ต้องหาวิธีอื่น บางทีก็จะโดนจิตตสังขารปรุงแต่งหลอกให้ละความเพียร มันจะทำให้ “เสียของ” หากการพิจารณาเอาตัวเราไปเพ่ง หรือ มีความเครียดเกิดขึ้นระหว่างกายพิจารณา ฟุ้งซ่าน น้อมไม่ติด หากเอาแต่ใช้กำลัง หรือมีความอยากผสมอยู่ จะไม่เป็นผลกับการพิจารณา กรณีเช่นนี้ให้อาศัย “ความสงบใจ” เป็นบาทฐาน คือ เมื่อมี “สติรู้เท่าทัน” อยู่ก็จะเห็นอาการที่ปรากฏขึ้นนี้เป็นเพียงสังขารที่เขาเกิดเองดับเอง การที่มีสติรู้เท่าทันสังขารที่ถูกรู้ คือ เวทนา ความคิด ความรู้สึก เช่น ความเครียด ความฟุ้งซ่าน ความหลงปรุงแต่งด้วยความอยาก ฯลฯ ให้เห็นเขาเป็นเพียง “สังขาร” ก็ปล่อยให้มันเกิดเองดับเอง ยอมรับความจริง ไม่ไปฟุ้งซ่าน หรือ เครียดตามสังขารที่ปรากฏนั้น ใจก็จะเป็นความสงบด้วยตัวมันเอง (ซึ่งสิ่งนี้คือผลจากการฝึกมีสติรู้เท่าทันจิตส่งออกนอกจากการพิจารณากาย และกลับมาอยู่กับการพิจารณากาย โดยไม่ไปสนใจความคิด อารมณ์ ความรู้สึกที่เป็น “จิตตสังขาร” ที่เกิดขึ้นระหว่างกายพิจารณา แต่ไม่ใช่เข้าหาผู้รู้และพิจารณาแบบจิตเห็นจิต เพียงแค่ใช้ “สติรู้เท่าทันจิตส่งออกนอก” เพื่อตบกลับให้เข้าทางการพิจารณากายเท่านั้น) หากความสงบใจมีไม่เพียงพอ ย่อมฟุ้งซ่านออกไปจากการพิจารณา เมื่อจิตมีความสงบมากขึ้น การพิจารณาก็จะต่อเนื่องมากขึ้น เมื่อพิจารณาต่อเนื่องมากขึ้น ก็จะสงบมากขึ้น สิ่งนี้ล้วนเป็นเหตุปัจจัยซึ่งกันและกัน สภาวธรรมที่ปรากฎให้เห็น จากแรก ๆ ที่ต้อง “น้อม” ถึงจะเห็น แต่ต่อมาปรากฏให้เห็นเอง หน่วงภาพขึ้นมาติดจิตได้ เรียกว่า “อุคหนิมิต” ถ้าจิตมีความสงบเป็นบาทฐานอยู่ เรียกว่า มีสติ สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่งเดียว ในขั้นนี้เป็นสมถะ ซึ่งอาศัยความสงบเป็นบาทฐานทำให้หน่วงภาพนั้นขึ้นมาให้ติดจิตได้ด้วยกำลังสมาธิ การที่สามารถสลายภาพอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น เครื่องในถูกบด เน่า สลาย กลายเป็นหมูบด จากร่างกายที่เห็นว่าสวยงาม เน่าเฟะ ขึ้นอืด ถูกบดจนสลาย ถูกเผาเป็นเถ้าธุลีไป เช่นนี้เป็น “ปฏิภาคนิมิต” คือ ย่อ ขยายภาพที่หน่วงติดจิตไว้ได้แล้วนั้น ให้สลายจนคืนกลับสู่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่เหลือตัวเหลือตนที่เป็นกายหยาบ จะสลายด้วยวิธีใดก็ได้ที่ถูกจริต เช่น รถบด ไฟเผา ดึงอวัยวะออกมาให้เน่าเฟะสลายลงสู่ดิน หรือโครงกระดูกร้าวแตกลายงาจนร่วงคืนลงสู่ความเป็นธาตุดิน เป็นต้น กรรมวิธีใดก็ไม่สำคัญ ให้สลายตัวตนของกายหยาบที่เห็นติดจิตนี้ให้คืนกลับสู่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ พิจารณาในแง่มุมต่าง ๆ ให้จิตมันลงแก่ใจจนปลงปล่อยวางความยึดติดยึดถือในกายของตน การพิจารณากาย ต้องมี “สติรู้เท่าทัน” จิตส่งออกนอกไปด้วย เรียกว่า มีสมาธิ เมื่อสติ สมาธิ ปัญญารวมตัวกัน ก็สามารถพิจารณากายได้ละเอียดขึ้น หากมีนิสัยวาสนาให้พิจารณาอย่างช้า ๆ หรือ สโลโมชั่น เพื่อให้ได้รายละเอียด เห็นการเน่าเปื่อย ผุพัง แตกสลายของอวัยวะที่สวยงาม อันเป็นที่ตั้งของกามราคะ เพื่อทำลายความหลงใน “หนังหุ้มขี้” แผ่นเดียวนี้จนไม่เหลือ พิจารณาช้า ๆ ให้ลงแก่ใจ มันจะได้ของแถมเป็นความรู้พิเศษขึ้นมาด้วย แต่ก็ไม่ได้ให้ตั้งเป้าหรืออยากได้สิ่งเหล่านี้ หากนิสัยวาสนาเคยบำเพ็ญมา ของเหล่านี้จะเป็นไปเอง มีเอง ได้เองโดยไม่ต้องอยาก เมื่อมันถึงเวลา ถึงเหตุปัจจัยของมัน เมื่อพิจารณากายสลายลงจนไม่เหลือตัวตนแล้ว ก็ให้ตั้งภาพที่จิตหน่วงไว้ (อุคหนิมิต) นั้นขึ้นมาอีก จะเป็นส่วนเดิมก็ได้ พิจารณาซ้ำไปซ้ำมา ให้สลายกลับคืนสู่ธาตุ ซ้ำแล้วซ้ำอีก หากระหว่างการพิจารณา ปรากฏภาพส่วนอื่นของร่างกาย หรือภาพนิมิตที่เกี่ยวกับการพิจารณากายในแง่มุมอื่น โดยที่ไม่ได้ตั้งใจน้อม ก็สามารถสวมเข้าพิจารณาต่อเป็นปัจจุบันได้ทันที พิจารณาเช่นนี้จนกว่าจิตจะอิ่ม คือ ตั้งภาพนั้นขึ้นมาพิจารณาไม่ได้อีก หรือมีธรรมมากระแทกใจ เช่น กินข้าวอิ่มในเรื่องการพิจารณากายแล้ว จะกินอีกสักคำได้รึ? หรือธรรมมาปรากฏให้รู้แก่ใจด้วยตนเอง เมื่อนั้นถึงอยากจะพิจารณาก็จะพิจารณาไม่ได้อีกต่อไป หากพิจารณากายแล้วปรากฏว่ายังเหลือกายที่เห็นเป็นวุ้น ๆ นั้น คือกายโปร่งแสง ที่จะเหลือเป็นตัวเป็นตนไปเกิด เพราะความยึดถือในขันธ์ห้ายังไม่สิ้นไป จะปรากฏให้เห็นอย่างไรก็ไม่ต้องสนใจ ไม่เอามาคำนึง เดินหน้าพิจารณากายข้างต้นต่อไป ความลังเลสงสัย ความใคร่รู้ อยากจะได้คำตอบ มันบ่งบอกโต้ง ๆ อยู่แล้วว่ามี “ตัวเรา” ผู้ดิ้นรนค้นหา เมื่อไม่รู้เท่าทันมันก็กลายเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน แต่ถ้าน้อมไว้ในใจโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) เสมอว่า ทุกอาการที่ขันธ์ห้าแสดงออกได้คือสังขาร ที่ปรุงแต่งออกมาจากความมีตัวตน เพราะความหลงยึดถือขันธ์ห้า และปล่อยให้สังขารที่เกิดขึ้นเป็นเพียงสิ่งที่ถูกรู้ เกิดและดับไปเก้อ ๆ ไม่ไปยึดถือว่าขันธ์ห้านี้เป็นของเราจริง ๆ จัง ๆ ก็จะไม่หลงไปกับสังขาร ไม่เป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ขอให้มีความเพียรต่อเนื่อง พิจารณาให้เห็นความจริงของร่างกาย ให้เห็นสัจธรรมความจริงอย่างนี้ให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย อย่าประมาทในโลก และอย่าประมาทในธรรม ที่มา : Timeline This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (Official Line หรือ ไลน์แอดหลวงตาณรงค์ศักดิ์)ลิงค์ต้นฉบับ : https://timeline.line.me/post/_df9A9fT_Rv2xk3vB3rw1dMHhgl-EMiEl_lUPj2k/1157066885707062612วันที่ 10 ตุลาคม 2562