โยม 4 : จริง ๆ ต้องขอบคุณสังขารนะเจ้าคะ
เพราะว่าสังขารตัวที่กระดุกกระดิกนั่นแหละ มันเป็นเครื่องล่อทำให้ได้เห็น “จิตตสังขารฝ่ายผู้รู้” ที่ไปรู้ตัวธรรมารมณ์ที่มันเกิดขึ้น
ถ้ามันไม่หลงไปเป็นสังขาร (สิ่งที่ถูกรู้ หรือ ธรรมารมณ์) ที่เป็นเครื่องล่อให้เห็นจิตผู้รู้ มันก็จะเห็นสังขาร "ตัวผู้รู้" ที่บ่น พูด พากษ์ สังขาร “ตัวที่ถูกรู้” ไม่ไหลไปเป็นธรรมารมณ์
หลวงตา : ถ้าไม่มีจิตตสังขารเป็นตัวกลางกั้นไว้นะ มันติดอารมณ์หมดทุกคนแหละ
ไปติด รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เสียดสี ธรรมารมณ์หมด ไม่เห็นตัวที่มันอะไรกับรูป มันต้องไปติดรูปแน่นอน ไปติดเสียง ไปติดกลิ่น ไปติดรส ติดสัมผัส ติดอารมณ์หมดแหละ
ดูสิว่ามันเห็นจิตแล้วจิตเป็นตัวกลางมั้ย พอเห็นจิต ปล่อยวางจิต มันเลยพ้นทุกข์ เพราะว่าจิตเป็นตัวกลาง พอเห็นจิตเสียแล้วมันก็เลยไม่ไปถึงรูป เห็นจิตเสียแล้วมันก็ไม่ไปถึงเสียง ถึงกลิ่น ถึงรส สัมผัส เสียดสี ธรรมารมณ์ มันไปไม่ถึงร่างกาย ไปไม่ถึงเวทนา มันเลยติดตรงจิตนี่แหละ มันไปไม่ถึงธรรมารมณ์
เพราะว่ามันเห็นจิตที่รู้อะไรแล้ว มันเอามา วิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย บ่น ง้อง ๆ แง้ง ๆ มันกระดุกกระดิกอยู่ในใจอยู่ตลอดเวลา
โยม 2 : หลวงตาเจ้าคะ หลวงตาบอกว่าให้ทุกคนอยู่กับผู้รู้ ทุกคนก็จะไปดู บ่นอะไรยังไงอย่างนี้ใช่มั้ยเจ้าคะ แต่หลวงตาก็สอนว่า "ญาณ" ตามหลังธรรม
หลวงตา : ใช่ ๆ
โยม 2 : แล้วตรงนี้เจ้าค่ะ มันต่างกันยังไง คือถ้าไปจ้องดู...
หลวงตา : ไม่ใช่… จ้องดูไม่ใช่ มันเป็น “ความรู้ออกมาจากใจ” ไม่มีคนจ้องดู
โยม 2 : เจ้าค่ะ คือในช่วงที่เราปฏิบัติ เราต้องคอยสังเกตดูอยู่แล้ว แต่ทีนี้มันเป็นการไปจ้อง
หลวงตา : "จ้อง" มันคือสังขาร
โยม 2 : ค่ะ มันเป็นสังขาร แต่ที่หลวงตาบอกว่าญาณมันเกิดตามหลังธรรม ตรงนี้มันเป็นจุดที่เป็นเส้นบาง ๆ ค่ะหลวงตา
หลวงตา : พอมันเริ่มไปจ้อง เริ่มไปแอคชั่น (action) มารู้เท่าทันไว้ อันนี้มันหลงไปเป็นสังขาร
โยม 2 : รู้เจ้าค่ะหลวงตา ว่ามันเริ่มไปแอคชั่น (action) แล้ว มันมี "กู" ไปแล้ว มันมีตัวตนเราไปแล้ว แล้วพอหลวงตาบอกว่าญาณมันเกิดตามหลังธรรม...
หลวงตา : อันนี้มันยังไม่เป็นญาณ เพราะว่ามันหลง... หลงแล้วรู้เท่าทัน เป็นแค่ “สติ” ธรรมดา
โยม 2 : ค่ะ มันก็เหมือนกับว่าเราไม่ต้องไปตั้งใจอะไร?
หลวงตา : ไม่ตั้งใจก็ไม่รู้อีก
โยม 2 : ใช่ค่ะ ที่หนูอยากถามหลวงตา คือพอไม่ตั้งใจก็ไม่รู้
หลวงตา : ไม่ตั้งใจรู้ ก็ไม่รู้ แล้วหลงเลย!!!
โยม 2 : ค่ะ พอไปจ้องก็เป็นสังขาร พอไม่ตั้งใจก็หลง
หลวงตา : ใช่ ถูกต้อง ๆ ๆ
โยม 2 : แล้วจะให้ทำยังไงดีเจ้าคะหลวงตา?
หลวงตา : สุดท้าย... มันเป็นทางผ่าน ว่าไอ้ตัวตั้งใจ คือสังขาร มันต้องมีตัวตั้งใจเสียก่อน แล้วก็รู้ว่า เสี้ยววินาทีที่เริ่มตั้งใจก็คือสังขาร แต่ถ้าไม่ตั้งใจก็ไม่รู้อะไรเลย
สุดท้ายมันก็รู้ตัวมันเองว่า ตัวมันเองที่เริ่มตั้งใจเสี้ยววินาทีเดียว มันคือสังขาร มันก็ต้องตั้งใจก่อน มันเลยไม่หลงไง คือมี “สติตั้ง” ไว้ก่อน พอมีสติตั้งไว้ก่อนมันเลยไม่หลง
แต่สุดท้ายปัญญามันก็มาทันทีเลยว่า สุดท้ายแล้วมันไม่มีอะไรอีกแล้ว ไม่มีคู่ต่อสู้แล้ว คือไม่หลงแล้ว เพราะสติมันตั้งไว้ไม่หลงแล้ว คือรู้สังขารหมดเลยแล้วไม่ติดไปเลย รู้สังขารกระดุ๊กกระดิ๊กในใจหมดเลย ไม่ติดไป ถึงตอนนี้ไม่มีคู่ต่อสู้แล้ว
พอมันรู้สังขารหมดแล้วไม่ติดไป สุดท้ายตัวมันนั่นแหละ มันรู้เลยว่า ไอ้ตัวสติที่มันตั้งรู้ไว้ คือ "สังขาร" พอมันรู้ว่าตัวมันตั้งไว้ ที่ว่าสังขารอื่นถูกมันรู้หมด พอสังขารอื่นถูกรู้หมดปุ๊บ! มันก็เลยเหมือนว่างหมดเลย เพราะว่าไม่มีสังขารปรากฏ เลยนิ่ง เฉย ว่าง แต่ในความว่าง "สติ" เป็นคนพูดเองได้
คือมันไปรู้เท่าทันทั้งหมดเลย จนกระทั่งสังขารมันเกิดไม่ได้เลย นิ่ง เงียบ สงบไปหมดเลย เพราะอะไร? สติมันรู้เท่าทันจิตหมดเลยไง จิตกระดุกกระดิกแค่ปรมาณูเดียว "สติ" ที่ไปตั้งไว้รู้ มันก็รู้ทันหมดเลย จนกระทั่งจิตกระดุกกระดิกไม่ได้เลย ว่างหมด ตอนนี้ ไม่มีคู่ต่อสู้แล้ว เพราะอะไร? จิตมันดับหมดแล้วไง
แต่ในความที่จิตดับไปน่ะ ตัวสติเองน่ะเป็นคนพูด... เฮ้ย ดับหมดเลยเว้ย! เงียบหมดเลยเว้ย! ไม่เห็นจิตมันกระดุกกระดิกเลยเว้ย มันว่างเปล่าเลยเว้ย!
นี่แหละ คือผู้มีปัญญาตรงนี้แหละ ที่เฉียบแหลมตรงนี้ ต้องคมจริง ๆ พอมาเห็นสติพูดได้แค่นั้นแหละ โอ้โห... มันบอกไม่ถูกเลย หัวจรดเท้ามันเหมือนกับเป็นลมเลย เหมือนเป็นลม ใจหายวาบขึ้นมาเลย เหมือนคนเป็นลมไม่ได้กินข้าวเลย บอกไม่ถูกเลย คือตรงนั้นไม่มีคำพูดเลย
สุดท้าย "สติ" นี่เอง เป็นตัวปรุงแต่ง!!
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจาก “สนทนาธรรมกับกลุ่มศิษย์”
ณ พุทธธรรมสถานปัญจคีรี
6 ตุลาคม 2562
~~~~~~~~~~~~~~~