โยม 1 : ผมมีปัญหาอย่างหนึ่งเวลาง่วงนอน พลิกเท่าไหร่ก็พลิกไม่ออก
หลวงตา : เราต้องพลิกที่ตัวเราที่ไปไม่พอใจความง่วง
มันมีตัวเราที่เข้าไปไม่พอใจความง่วง แต่ถ้าความง่วงมันมีอยู่ไม่มีตัวเราที่เข้าไปไม่พอใจความง่วง อันนี้มันจะว่าง
โยม 1 : ถ้าสมมุติเกิดอาการง่วง ปั๊บ! เราจะพลิกยังไง?
หลวงตา : ไม่พลิกสิ ก็คือว่าถ้าไม่มีตัวเราออกไป แสดงว่ามันไม่ต้องพลิกอะไรแล้ว มันมีอาการอะไร ก็ไม่มีตัวเราออกไปเลย เพราะว่าอาการทั้งหมดเป็น "สังขาร" ปล่อยให้สังขารมันเกิดดับ มันเป็นของมันอยู่อย่างเก้อ ๆ สังขารมันเป็นอย่างเก้อ ๆ
ยังไม่เห็นตัวนี้อีกตัวหนึ่ง คือตัวที่จะเข้าไป ตัวสังขารตัวที่ปรุงแต่งเป็นเรา พอมีอะไรแล้วมีปรุงแต่งเป็นเราที่เข้าไปในสิ่งนั้น มันยังไม่เห็นตัวนี้
พอไม่เห็น มีอะไรปุ๊บ! มันมีตัวเราเข้าไปในสิ่งนั้น คือ จิตเราจิตของเรา จิตปรุงแต่งเป็นตัวเรา มันมีตัวเราเข้าไป เฮ้ย... เราง่วง
มันไม่ใช่ "ง่วง" แต่... (เรา) ง่วง พอว่าง (เรา) ว่าง
มันไม่ใช่ว่ามีแต่อย่างนั้น แต่มันมีเราเข้าไปเป็นเจ้าของ มันก็เลยโดนอารมณ์นั้นน่ะหุ้ม เลยง่วงเลย
คล้าย ๆ อย่างนี้ เวลามันมีอะไรเกิดขึ้นเราไม่ได้ไปสนใจอาการที่มันเป็น เรานี่จะไม่สนใจอาการที่มันเป็นเลย แต่เราสังเกตดูว่า ในอาการที่เป็นน่ะ เราสังเกตเห็นจนเห็นว่า อาการที่เป็นทุกอาการมันเหมือนกับว่ามันเป็นพื้น แต่ในพื้นอาการที่เป็นน่ะ มันมีตัวยุกยิก ๆ คือ "ตัวเรา" มันมีความคิด ความปรุงแต่งเป็นตัวเราที่ บ่น พูด มีความพยายาม พอใจไม่พอใจ ดิ้นรนอะไรกับอาการนี้ *** ตรงนี้สำคัญมากเลย
อาการนี่มันไม่ได้มีความหมายหมดเลย เพราะอะไร? เพราะว่ามันเป็น "ขันธ์ห้า" อีกเดี๋ยวก็ดับไป มันเป็นแค่เวทนา อาการเป็น "เวทนา" ง่วงมันเป็นเวทนา โปร่ง โล่ง เบาสบาย ความรู้สึกว่าง มันเป็นเวทนา
แต่เวทนานี่มันไม่อยู่ในความสนใจเราเลย เพราะเรารู้ว่ามันเป็นเวทนา เป็นขันธ์ห้า มันเลยไม่ได้อยู่ในความสนใจของเราเลย เราต้องเลยไป #เห็นจิต #เห็นธรรม กาย เวทนา จิต ธรรม ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ ต้องไป เห็นจิต เห็นธรรม
เพราะฉะนั้น เราไม่สนใจว่าร่างกายเราจะเป็นอะไร ถ้ามันเจ็บไข้ได้ป่วยเราก็ไปรักษา รักษาไม่หายก็ตายไปเลยไม่กังวลมัน ก็คือ แค่หมดกรรมไป
อาการอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้น ให้ถูกรับรู้ได้เป็นเวทนา เพราะว่าอะไร? ถ้าอาการเหล่านั้นมันถูกใจเราก็เป็นสุข ไม่ถูกใจเราก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่ถึงขั้นถูกใจไม่ถูกใจ เราก็เพลินใจไป
อาการง่วง เราไม่ถูกใจมัน มันก็เลยเป็นทุกขเวทนา เราไม่ได้ดูตรงนั้นเลยเวทนา เพราะเราถือว่า "สติปัฏฐาน ๔ " คือกายเวทนา แต่มันอีกตั้งสองอัน คือ "จิต" กับ "ธรรม" ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นเราดูที่ "จิต" เราไม่ได้ดูที่เวทนา
"จิต" ก็คือจิตที่ไปรู้เวทนา เวทนาน่ะมันรู้ตัวมันเองไม่ได้ แต่มันจะมีจิตไปรู้เวทนา พอจิตไปรู้เวทนา แล้วมันก็จะต้องวิเคราะห์ วิจารณ์ วิจัย บ่น ง้องเเง้ง ๆ
เฮ้ย! ทำไมเราง่วงอย่างนี้วะเนี่ย?
เอ๊ะ... เราแช่หรือเปล่าวะเนี่ย?
แล้วเราเป็นทำไม แล้วทำไมจึงเป็นอย่างนี้?
มันจะง้องแง้ง ๆ ๆ
เราเลยไม่สนใจเลยว่า ง่วง โปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่าง แต่เราดูว่าในเวทนาทั้งหมดเนี่ย มันมีจิตกับธรรม คือ "มันเป็นตัวบ่น" ทีนี้เราก็สังเกตเห็นไอ้คนที่บ่นง้องแง้ง ๆ ๆ เห็นตัวเราบ่น
พอเห็นตัวเราบ่นนะ ไม่มีใครมาอะไร ๆ กับตัวบ่น ไม่ใช่ไม่มีใครไปอะไร ๆ กับเวทนานะ! มันมีตัวบ่นเวทนา นี่คือจิตแล้ว "สติปัฏฐาน ๔ " กาย เวทนา (จิต) ธรรม
เพราะว่าเราไม่สนใจกายแล้ว แล้วก็ไม่สนใจเวทนา แต่สนใจที่จะดูว่า ในเวทนาทุกอาการไม่ว่าจะ โปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่าง หรือว่ามันแน่นอึดอัดทึบอะไรก็ตาม มันจะมีจิตที่บ่น จิตที่ไปรู้เวทนา พอไปรู้แล้วมันจะเอามาบ่น มาบ่นในใจ
มันจะรู้เพียงแค่ขณะจิตเดียวแป๊บเดียว เสี้ยววินาทีเดียว! แล้วมันก็จะเป็น "ธรรมารมณ์" นี่คือ... "ธรรม" หมวดธรรมในธรรม ก็คือ ธรรมารมณ์นั่นเอง
พอมี "เจตสิก" เวทนา สัญญา สังขาร อีกสามขันธ์เข้าประกอบ พอไปรู้อาการของเวทนา พอไปรู้เวทนาปุ๊บ!พอไม่ถูกใจเวทนา มันกลายเป็นเวทนาเข้าประกอบเลย คือไม่ถูกใจเป็น "ทุกขเวทนา" แล้วสัญญาก็จำได้หมายรู้ว่า...เฮ้ย!ง่วง สังขารก็ปรุงเลย ปรุงคิด ปรุงไว้ เอ๊ะ มันทำไมมันง่วง มันทำไมมันแช่อย่างนี้วะ
คือพอ "เจตสิก" เข้าผสมกับจิตผู้รู้ปุ๊บ! มันก็กลายเป็นธรรมารมณ์ดวงใหม่ ***อันนี้ต้องแม่นมากเลยผู้ปฏิบัติธรรมต้องแม่นมากเลย
โยม 2 : แต่จริง ๆ แล้วในทุกพฤติหนึ่งเนี่ย มันคือ "สติปัฏฐาน ๔" เกิดครบ? คือไม่ใช่ว่ากายอย่างหนึ่ง ณ ต่างกรรมต่างวาระ
หลวงตา : คือกาย ถ้าเราไม่สนใจมันแล้ว เราเห็นว่ามันเป็นของต้องตายต้องแตกดับ ไม่มีค่าไม่มีความหมายต่อใจไปแล้วเนี่ย มันหมดความหมายไปเลยกาย
แต่ถ้าเรายังยึดถือร่างกายอยู่ ไอ้ตัวนี้มันยังยึดถือว่าตัวร่างกายนี้คือเรา เราก็จะเอาตัวเราเข้าไปจัดการตลอดเลย เข้าไปเสพ "เสพ" คือ พอใจ ไม่พอใจ
อย่างของโยมที่ไปปฏิบัติมาเนี่ย คือที่มันเป็นความว่าง คือ เรายังยึดถือตัวอยู่ ยึดถือว่าเป็นตัวเรา แล้วเอาตัวเราไปเสพความว่าง ที่เค้าไปเรียนกันไปเรียนกันคอร์สเดียว คือ เรานี่ยังยึดถือตัวเรา ที่เราอยากได้นิพพาน
ยึดถือตัวเราอยากได้นิพพาน อยากให้มันว่าง แล้วเราก็เอาตัวเราไปเสพความว่าง อันนี้อีกอย่างหนึ่งคนละอย่างกัน
แต่หลวงตาพูดถึงว่า หลวงตาเห็นว่าร่างกายมันเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อยมากเลยมันเป็นเรื่องนอก ๆ ใจไปเลย หลวงตาไม่สนใจมันเลยว่ากายนี้ยังไงเดี๋ยวมันก็ต้องตายแตกดับ มันก็ไม่ได้มีความหมายอะไรต่อใจ มันไม่ได้เป็นตัวเป็นตน
แล้วก็เวทนาที่มันเกิดขึ้น โปร่ง โล่ง เบา สบาย แน่นอึดอัด ง่วง ทึบตื้อ เราเห็นว่ามันเป็นอีกหมวดหนึ่งแค่หมวดที่สอง "เวทนา" มันไม่มีความหมาย เพราะอะไร? พวกนี้เวลาตายแล้วกายก็ดับ เวลาพอตายแล้วเวทนาก็ดับ เพราะมันเป็นขันธ์ที่สอง แต่เราสังเกตมันจนเราเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเวทนา เหมือนกับเวทนานี่มันเป็นพื้น แต่เราไม่สนใจให้ค่ากับ กาย กับเวทนาเลย เราสนใจดูจิต
เพราะว่า จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง... เป็นมรรค ผลแห่งจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง..เป็นนิโรธ คือ ความพ้นทุกข์
มันดูตรงจิตนี่แหละ มันไม่ดูที่กายที่เวทนา แต่ดูตรงจิต
หลวงตาณรงค์ศักดิ์ ขีณาลโย
โอวาทธรรมจาก “สนทนาธรรมกับกลุ่มศิษย์”
ณ พุทธธรรมสถานปัญจคีรี
6 ตุลาคม 2562
~~~~~~~~~~~~~~~