ผู้ถาม : องค์หลวงตาเจ้าคะ ลูกเคยสงสัยว่า “รู้สักแต่ว่ารู้ คืออย่างไร” ตอนนี้เหมือนลูกจะได้คำตอบ
เวลาลูกนั่งรถไปบนท้องถนน ตาเห็นอะไรมากมาย รถที่ผ่านเข้าสารพัด หูก็ได้ยินเสียง สารพัดเสียง แต่ จิตไม่ได้บันทึกหรือจดจำสิ่งเหล่านั้นเลย เพราะเห็นสักแต่ว่าเห็น ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน มันยังไม่เกิด ตัณหา คือความอยาก หรือไม่อยาก วงจรปฏิจสมุทปบาทจึงยังไม่เกิดขึ้น จิตจึงยังไม่บันทึกจดจำ ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป
ทันทีที่อายตนะทั้งหลายสัมผัสกับสิ่งภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง ธรรมารมณ์ แล้วเกิดความอยาก ที่ต้นจิตมันจะเกิดการกระทำตามมาทันที ถ้าขาดสติ รู้ไม่ทัน วงจรปฏิจสมุทปบาทเริ่มหมุนเหมือนวงล้อในเวลาที่เขาจับเลขสลากหวย ก็แล้วแต่เลขไหนจะออกมา มันเป็นอนัตตาเจ้าค่ะ หน้าที่เขาก็โยนสังขารมาเรื่อย ๆ ไม่หยุดตราบที่ยังมีลมหายใจเจ้าค่ะ
ถ้ารู้เท่าทันซะแล้ว ทุกข์สุขก็เป็นของคู่โลก แต่ใจมันไม่ดิ้นรนไม่กลัดหนอง ไม่อยากมีไม่อยากเป็น มันสงบอยู่ภายในลึก ๆ เจ้าค่ะ
เหลือแต่รู้ แต่ยังมีผู้รู้อยู่ อยู่กับผู้รู้ เจ้าค่ะ
กราบส่งการบ้านเจ้าค่าา
หลวงตา : สักแต่ว่ารู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในปัจจุบันขณะ โดยเฉพาะสักแต่ว่ารู้ “ธรรมารมณ์” ทางประตูใจ ไม่ใช่เอาตัวเราไปรู้ แต่ญาณ (วิมุติญาณทัสนะ หรือ ปัญญาของธาตุรู้ ) เห็นจิตตสังขารไม่เที่ยง เกิดดับ ไม่ใช่อัตตาตัวตน เหมือนดั่งตาเห็นรูป ก็จะไม่มีตัวตนของผู้ทุกข์ ภาษาสมมติเรียกว่า “นิพพาน”
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 20 กรกฏาคม 2565