ผู้ถาม : กราบขอโอกาสค่ะหลวงตา หนูขอถามจากตัวอย่างเลยนะคะ ถ้าขณะนั้นมีอารมณ์ หรืออาการของจิตเกิดขึ้น
ตัวอย่าง 1
มี “รู้” เกิดขึ้นว่าเป็น อารมณ์ หรือ อาการ (เป็นสิ่งถูกรู้)
แต่ไม่ได้มีการไปปรุงแต่งต่อ เช่น ชอบ ไม่ชอบในอารมณ์หรืออาการที่เกิดนั้น ๆ
“รู้” นี้ก็ไม่ได้เป็น อวิชชาใช่ไหมคะ เพราะ “ไม่มีเรา” เข้าไปในกระบวนการ
แต่ถ้าเริ่ม “มีเรา” เข้าไปปรุงแต่งต่ออารมณ์หรืออาการ อันนี้ก็จะเกิดเป็น “มีเรา” ไปเป็น ก็เป็น “อวิชชา” เพราะหลงเอาตัวเราเขาไปเป็น
ตัวอย่าง 2
ขณะที่บริกรรมพุทโธอยู่ มี “รู้” อยู่ว่าบริกรรมพุทโธอยู่ พอมีอารมณ์หรืออาการใดเกิดขึ้นขณะบริกรรมพุทโธ ก็ “รู้” ว่ามีอารมณ์ อาการเกิด แต่ไม่ปรุงแต่งต่อ
“รู้” ในตัวอย่าง 1 และ 2 ต่างกัน ตรงที่ ใน (1) เป็น “รู้” ที่เกิดเองโดยธรรมชาติ แต่ ใน (2) เป็น “รู้” ที่กำหนดให้มี “สติ” ต่อเนื่อง เป็นฐานไหมคะ
กราบในความเมตตาด้วยค่ะ
หลวงตา : คำว่า “รู้ แล้วไม่ปรุงแต่งต่อ” ที่จะไม่เป็นกิเลส และความทุกข์นั้น จะต้องถึงขั้นที่ไม่มีตัณหา อุปาทานต่อสิ่งที่ถูกรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในปัจจุบันขณะ
ถึงแม้จะพยายามรักษาจิตใจให้สักแต่ว่ารู้ในปัจจุบันขณะ หรือ พยายามให้รู้เฉย ๆ เพราะไม่อยากให้มีกิเลสตัณหา หรือ ความทุกข์ ก็ถือได้ว่ามีกิเลสตัณหา อุปาทานแล้ว
***** ถ้ารู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ในปัจจุบันขณะแล้วไม่มีอวิชชา ตัณหา อุปาทานต่อสิ่งที่ถูกรู้ หรือ ต่อผู้รู้ (พยายามสักแต่ว่ารู้ พยายามให้รู้เฉย ๆ พยายามรู้ไม่คิด พยายามรู้เป็นกลาง พยายามรู้ว่างเปล่า…) ก็จะเป็นนิพพานเป็นเป็นขณะ ๆ ไป แต่ถ้ารู้แล้วไม่ยึด หรือ ไม่มีกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานต่อสิ่งที่ถูกรู้และผู้รู้อย่างถาวร ก็จะเป็นนิพพานถาวร
***** สรุปแล้ว ; สามารถคิดปรุงแต่งในขณะรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ในปัจจุบันขณะได้ แต่จะต้องไม่ถึงขึ้นมีกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
แต่ถ้าถึงขั้นมีกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็ให้มีสติรู้เท่าทัน แล้วปล่อยวางทันที เรียกว่ามีปัญญา แต่ถ้าไม่รู้ หรือ รู้แล้วไม่สามารถละ ปล่อย วางได้ เรียกว่าไม่มีสติ ปัญญา
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565