ผู้ถาม : น้อมกราบขอโอกาสเจ้าค่ะหลวงตา
หนูคงไม่ได้ไปกราบองค์หลวงตา ก่อนกลับเพราะเวลาฉุกเฉินมากเลยเจ้าค่ะ
น้อมกราบขอโอกาสส่งธรรมที่ไร้ผู้เดิน ผู้เป็น ผู้ๆๆ... เจ้าค่ะ
ธรรม... หากยังมีผู้หา... นั้นยังไม่ใช่ธรรม... เลิกหา เลิกถาม เลิกสงสัย... แม้แต่คนถามก็ยังเป็นผู้หา... แต่ไม่ใช่ไม่ให้ถาม แต่ให้รู้ทันว่าถามเพราะจะเอาคำตอบ (อวิชชา) หรือถามเพราะธรรมเจ้าค่ะ?
หลวงตาเจ้าคะ จริง ๆ แล้วข้างในไม่มีอะไรจะถามแล้วเจ้าค่ะ หนทางในธรรม เหมือนกับได้เดินทางมาที่ปัญจคีรี... มันก็แค่รู้ว่า อ่อนี่แหละปัญจคีรี... แต่ก็ไม่มีใครยึด... ใครอยากแบกปัญจคีรีไปด้วยเจ้าค่ะ เพราะคนที่ยึดที่แบกก็ไม่มี... เจ้าค่ะ
น้อมกราบลาองค์หลวงตากลับบ้านที่เป็นสมมติเจ้าค่ะ
กราบขอองค์หลวงตาเมตตารักษาธาตุขันธ์แข็งแรงนะเจ้าคะ
แทบเท้าอย่างนอบน้อมเจ้าค่ะ
หลวงตา : คำว่า “รู้ แล้วไม่ปรุงแต่งต่อ” ที่จะไม่เป็นกิเลส และความทุกข์นั้น จะต้องถึงขั้นที่ไม่มีตัณหา อุปาทานต่อสิ่งที่ถูกรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจในปัจจุบันขณะ
ถึงแม้จะพยายามรักษาจิตใจให้สักแต่ว่ารู้ในปัจจุบันขณะ หรือ พยายามให้รู้เฉยๆ เพราะไม่อยากให้มีกิเลสตัณหา หรือ ความทุกข์ ก็ถือได้ว่ามีกิเลสตัณหา อุปาทานแล้ว
ผู้ถาม : เข้าใจค่ะเพราะยังมีตัวเราเข้าไปพยายามอยู่ค่ะ
หลวงตา : ***** ถ้ารู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ในปัจจุบันขณะ แล้ว ไม่มีอวิชชา ตัณหา อุปาทานต่อสิ่งที่ถูกรู้ หรือ ต่อผู้รู้ (พยายามสักแต่ว่ารู้ พยายามให้รู้เฉยๆ พยายามรู้ไม่คิด พยายามรู้เป็นกลาง พยายามรู้ว่างเปล่า …) ก็จะเป็นนิพพานเป็นเป็นขณะ ๆ ไป แต่ถ้ารู้แล้วไม่ยึด หรือ ไม่มีกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานต่อสิ่งที่ถูกรู้และผู้รู้อย่างถาวร ก็จะเป็นนิพพานถาวร
ผู้ถาม : เข้าใจค่ะ จากค่อย ๆๆ ละได้ จนถึงละหมดค่ะ
หลวงตา : *****สรุปแล้ว ; สามารถคิดปรุงแต่งในขณะรู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ในปัจจุบันขณะได้ แต่จะต้องไม่ถึงขั้นมีกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน
ผู้ถาม : เข้าใจค่ะ เพราะขันธ์ 5 ยังคงทำงานอยู่เป็นปกติของเขา
หลวงตา : แต่ถ้าถึงขั้นมีกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็ให้มีสติรู้เท่าทัน แล้วปล่อยวางทันที เรียกว่ามีปัญญา แต่ถ้าไม่รู้ หรือ รู้แล้วไม่สามารถละ ปล่อย วางได้ เรียกว่าไม่มีสติ ปัญญา
ผู้ถาม : เข้าใจค่ะ กราบพระขอบคุณมาก ๆ ค่ะ หลวงตา
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565