ผู้ถาม : ขอกราบเรียนองค์หลวงตาเจ้าค่ะ เมื่อคืนนี้โยมได้ฟังคลิปธรรมะขององค์หลวงตา เรื่องวงจรปฏิจจสมุปบาท เหตุของการเวียนวน และอาสวะ อวิชชา จากนั้นเอามาพิจารณาทบทวนเช้านี้ เกิดธรรมะไหลหลั่งออกมาจากใจว่า...
ตัวเรา ผู้ยึดที่มีตัณหาอุปาทานนั้น ที่แทัเป็นส่วนเกิน เกินจากธรรมชาติทั้งสอง คือ สังขาร และวิสังขาร
จึงมีความอยากเขียนออกมา เขียนจากใจที่เข้าใจ, จำได้และปฏิบัติได้ล้วน ๆ ไม่ได้ไปเปิดตำราเขียนสักนิดเจ้าค่ะ ขออนุญาตส่งมาให้องค์หลวงตาช่วยตรวจ เพื่อขอความเมตตาคอมเมนต์หากไม่ถูกต้องค่ะ ขอหลวงตาไม่ต้องไปลงกลุ่มนะคะ ขออโหสิกรรมเจ้าค่ะ สาธุ
ด้วยความเคารพอย่างสูง น้อมกราบด้วยเศียรเกล้า
ส่วนเกิน
ความจริง ในตัวเรามีธรรมชาติ 2 อย่าง คือ ธรรมชาติที่เป็นสังขารปรุงแต่ง (สังขตธาตุ) เกิดดับ ๆ ในวิสังขาร คือ ใจ (อสังขตะ) เป็นความนิ่ง ความว่าง ความเงียบที่ไม่เกิดไม่ดับ มีอยู่อย่างนั้นตลอดอนันตกาล
แต่ว่า... มีส่วนเกินเกิดขึ้นมาคั่นระหว่างสองสิ่งนี้ มันคือ ตัวเรา ผู้ยึดถือนั่นเอง ยึดเพราะความไม่รู้ ความโง่ หรืออวิชชา เป็นตัณหาอุปาทาน มายึดครองธาตุดินและธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟของพ่อแม่ แล้วขี้ตู่ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นของ ๆ เรา
เราจึงต้องการให้มันเป็นไปตามความอยาก และความไม่อยากของเรา เช่น เราอยากสวย รวย เก่ง ดี เราไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตาย เราอยากคงไว้ซึ่งความหนุ่มสาว และความมีสุขภาพดี แต่เราก็ทำไม่ได้ เราจึงทุกข์มาก
เมื่อเราได้เรียนรู้ธรรมะของพระพุทธเจ้า คือ อริยสัจสี่ ความจริงอันประเสริฐ และมรรคมีองค์แปด หนทางปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์ ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า นามรูป หรือร่างกาย หรือขันธ์ห้านี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่ของของเรา
รูปเป็นเพียงธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ประกอบขึ้นมาตามเหตุและปัจจัย เกิดขึ้นมาตั้งอยู่ชั่วคราว มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงตามเหตุปัจจัยตลอดเวลา ไม่สามารถบังคับควบคุมให้เป็นตามความต้องการของเราได้ มันเกิดเอง เสื่อมเอง ดับเอง แล้วในที่สุดก็ตาย สูญสลายกลายไปเป็นธาตุทั้งสี่ตามเดิม
นามเป็นเพียงกิริยาอาการประกอบรูปกายนี้เท่านั้น เรียกว่า จิตตสังขาร มีสี่ขันธ์ คือ
เวทนา ความรู้สึก สุข ทุกข์ ยินดี พอใจ โกรธ และอีกมากมาย
สัญญา คือความจำได้หมายรู้
สังขาร คือความคิดปรุงแต่ง
วิญญาณ คือ จิต หรือผู้รู้ ที่ไปรับรู้ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์
นามทั้งสี่ขันธ์นี้ จะเกิดขึ้นและดับไปตลอดเวลา ไม่สามารถบังคับควบคุมให้เป็นตามความต้องการของเราได้ ไม่สามารถหยุดมันได้ด้วย มันเกิดเอง ดับเอง มันจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่ของของเรา
เราเกิดมาทุกข์กาย ทุกข์ใจ ทุกข์เพราะความเจ็บป่วย ถูกบีบเค้น ถูกกดดัน ถูกเอารัดเอาเปรียบ ทุกข์เพราะความพลัดพราก ทุกข์เพราะความไม่ได้ดั่งใจ ไม่สมความปรารถนา เหนื่อยยากกับการทำมาหากิน การแสวงหาทรัพย์สมบัติ เพื่อหวังจะได้มีความสุขเสียที สุดท้ายก็มาตายจากโลกนี้ไป ไม่มีแก่นสารสาระอะไรเลย เหนื่อยเสียเปล่า ทุกข์เสียเปล่า สุดท้าย ก็ต้องทิ้งทั้งหมด หามาเพื่อทิ้ง เกิดมาเพื่อตาย น่าเศร้าใจ สลดสังเวชจริงหนอ...
พอแล้ว ไม่เอาอะไรเกินตัวอีกแล้ว ขออยู่แบบพอเพียง เหมือนที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงสอน ขอปล่อยวาง
การปล่อยวาง ต้องมีวิธีการ คือ ต้องปล่อยวางเป็นชั้น ๆ จากของที่หยาบที่สุดก่อน เช่น ทรัพย์สินสมบัติ เทือกสวนไร่นา ที่อยู่ห่างกายก่อน ตายแล้วเอาไปไม่ได้สักอย่าง หามามาก ๆ ด้วยความเหนื่อยยากทำไม
ทำงานตามหน้าที่ หาปัจจัยสี่แบบพอเพียงประทังธาตุขันธ์ และมีไว้ทำบุญบ้าง มีไว้ใช้ยามจำเป็นบ้างก็พอ ไม่โลภอยากได้ อยากมี อยากเป็นที่เกินความจำเป็นอีกแล้ว เพราะสุดท้ายก็ต้องทิ้งทั้งหมด
จากนั้น ปล่อยวางคนใกล้ตัว คนในครอบครัว สามี ภรรยา ลูก ๆ หลาน ๆ รักและเมตตา ดูแลเอาใจใส่เขาตามความเหมาะสม ทำหน้าที่บทบาทตนเองให้ดี ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ไม่ยึดติด
ท้ายสุด จึงมาปล่อยวางร่างกายกับจิตใจของเราที่เรารักนักรักหนา
การละอุปาทานในรูปกาย ผู้ได้อรูปฌาน วางรูปได้ในฌานสมาธิ จากนั้นปล่อยวางนามขันธ์ทั้งสี่
ผู้ไม่ได้อรูปฌาน วางโดยใช้ปัญญา วางได้ทั้งในชีวิตประจำวัน และในสมาธิ ปล่อยวางด้วยการรู้ตัวผู้รู้ ที่วิ่งไปเกาะขันธ์ทั้งสี่ คือ รูป (ลม) เวทนา สัญญา สังขาร
ผู้รู้หรือวิญญาณ มันจะเหมือนลิง ไม่อยู่นิ่ง มันจะวิ่งไปเกาะโน่นเกาะนี่อยู่ตลอดเวลา ให้มันอยู่ที่ลม แต่มันก็จะลืมลม ไปเกาะที่สังขารบ้าง สัญญาบ้าง เวทนาบ้าง รูป เสียง กลิ่น รส บ้าง เกิดดับ ๆ เปลี่ยนไปมาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอยู่อย่างนั้น ไม่สามารถบังคับได้ มันจึงไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่ของของเรา
ดังนั้น การละอุปาทาน จึงต้องเข้าใจจริง ๆ ว่า ขันธ์ห้าไม่ใช่เรา ต้องปล่อยวางขันธ์ห้า ด้วยการปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์แปด ทั้งสติ สมาธิและปัญญา พิจารณาให้แยบคายในหลายแง่มุม เช่น...
ในมุมของความเป็นปฏิกูล ความสกปรกของร่างกาย ที่มีแต่ขี้ไหลออกมาตามทวารต่าง ๆ ขี้มูก ขี้ตา ขี้หู ขี้ไคล อุจจาระ ปัสสาวะ ฯลฯ ที่ต้องขัดสีฉวีวรรณทุก ๆ วัน หาไม่แล้วก็จะเน่าเหม็นไม่มีใครกล้าเข้าใกล้ แม้ผมเส้นหนึ่งร่วงอยู่บนอาหารก็สะอิดสะเอียนกินไม่ลง
พิจารณาการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เน่าเปื่อย ผุพัง ก่อนเกิดไม่มีเรา ตายแล้วก็ไม่มีเรา ว่างเหมือนเดิม
พิจารณาโดยแยกอาการ 32 เป็นกองธาตุ ค้นหาตัวเราว่ามีตัวเราไหม โดยพิจารณาลงที่ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งหมดทุกมุม ต้องเจริญให้มาก ทำให้มากครั้ง ซ้ำ ๆๆๆ ย้ำ ๆๆๆ นับพัน นับหมื่นครั้ง
จนกระทั่งลงแก่ใจ จิตจะยอมรับความเป็นจริง เพราะเป็นเรื่องจริง จิตจะปล่อยวางเอง
เมื่อวางขันธ์ห้าได้แล้ว ต้องกลับมาวางตัวเราที่เป็นผู้ปล่อยวาง เป็น “ส่วนเกิน” นี้อีกด้วย
โดยการสังเกตดูจิตตสังขารทำงาน จะรู้ผู้รู้ตัวปลอมที่คิด นึก ตรึก ตรอง พากษ์ บ่น รู้ทันแล้วปล่อยวาง มันคือตัวปลอม คือส่วนเกิน ไม่ใช่เรา เพราะผู้รู้ตัวจริงจะนิ่งเป็นใบ้
ทำบ่อย ๆๆๆ จนกระทั่งศีล สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่งเดียว เกิดอริยมรรคสมังคี จิตตกกระแส อวิชชาดับ สำเร็จ “อาสวักขยญาณ”
เมื่ออวิชชาดับ ส่วนเกินก็หายไป ตัวเราที่เป็นกายโปร่งแสงก็หลุดออกไปเหมือนผลไม้ที่สุกบนต้นแล้วร่วงหล่นลงพื้น จิตที่บริสุทธิ์ก็จะลอยเด่นออกมา
สังขารและวิสังขารก็จะต่างคนต่างอยู่เหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป
เมื่อสังขารหมดวาระดับขันธ์หรือตายลง รูปกายกลับคืนสู่ดิน น้ำ ไฟ ลม นามขันธ์ทั้งสี่ดับไปเหมือนไฟที่สิ้นเชื้อ ตัดวัฏวน หลุดพ้นการเวียนว่ายตายเกิด
จิตที่บริสุทธิ์ หรือจิตพุทธะ หรือ ธาตุรู้ ก็จะเคลื่อนที่เข้าสู่พระนิพพานที่เป็นสภาวะเดียวกันไปตลอดอนันตกาล
“นิพพานัง ปรมังสุญญัง / นิพพานัง ปรมังสุขัง”
น้อมกราบสาธุ สาธุ สาธุ อนุโมทามิ (กราบ)(กราบ)(กราบ)
หลวงตา : สาธุ ! ... กัดติดจดจ่อต่อในธรรมนี้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ขันติ หิริ-โอตตัปปะ
มีคุณพระพุทธ คุณพระธรรม คุณพระอริยสงฆ์เป็นที่พึ่งที่ระลึกถึง เป็นกำลังใจตลอดเวลา
ธรรมชัดเจนดีมาก ขออนุญาตโพสต์นะ จะได้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2562