ผู้ถาม : เพราะมี "เหตุ" เช่นนี้ จึงมี "ผล" เช่นนั้น
เพราะเหตุนี้ดับพลัน ผลนั้นย่อมดับตาม
ผู้ใดใคร่สร้างเหตุ ผู้นั้นต้องรับผล
สิ้น "อัตตาตัวตน" จึงไร้ผลบันดาล
ความรู้จริงเห็นแจ้ง แทงตลอดทุก "ขันธ์"
หนึ่ง... รูปกายนั้น เกิดจากเหตุปัจจัย
ดิน น้ำ ไฟ ลม พร้อมผสมธาตุอากาศ
เป็นแค่เพียงเหล่าธาตุ มาประชุมรวมกัน
หาใช่เป็น "ตัวตน" สัตว์ บุคคล เรา เขา
ธรรมชาติไม่มี "เรา" ไม่มี "เธอ" ไม่มี "ฉัน"
ครั้นหมดเหตุปัจจัย ย่อมสลายคืนสู่ธาตุ
ไม่อาจ... ฝืนธรรมชาติ "ความเป็นเช่นนั้น"
สอง... "ธาตุรู้" ธรรมชาติ ที่ไม่อาจถือมั่น
ธรรมชาติรับรู้กัน เหตุ-ผล นั้นตามจริง
ไม่อาจแทรกแซง เป็นส่วนเกิน "ความรู้"
ธรรมชาติทุกอณู ย่อมไม่อาจปลอมปน
"ธาตุรู้" อันบริสุทธิ์...เป็น "วิมุตติ" โดยแท้
ย่อมไม่อาจผันแปร แลหาใช่ สัตว์คน
เมื่อเข้าใจธรรมชาติ จึงตัดขาดความหลง
ที่เคยยึดมั่นคง "หลง" เป็นตัวตนจริงจัง
สิ้นหลงภาพมายา "อวิชชา" จึงดับไป
สังขารคือ เงาของใจ ปล่อยไว้ตามที่เป็น
พระนิพพาน... อยู่ฟากน้ำ... ที่ริมตา
หยุดค้นหา... ย่อมประจักษ์แจ้งที่ "ใจ"
สังสารวัฏอันแสนยาวนาน ไร้ที่สิ้นสุด
แท้จริงนั้น "วิมุตติ" ซ่อนอยู่ใน "สมมติ"
หลุดแล้ว... จึงรู้ ถ้ารู้อยู่... ไม่หลุด
ผู้รู้... ไม่พูด ผู้พูด... ไม่รู้
ผู้มี... ไม่พ้น ผู้พ้น... ไม่มี
ผู้เป็น... ไม่ใช่ ผู้ใช่... ไม่เป็น
ไม่มี "ผู้ใด" ไม่มีใคร "ผู้นั้น" อยู่จริง
มีแต่ความหลงที่เกิดดับ... เกิดดับ
ไม่เป็นอะไร... เพราะ "ไม่มีอะไร" จะเป็น
ไม่ได้อะไร... เพราะ "ไม่มีอะไร" จะได้
ไม่ถึงอะไร... เพราะ "ไม่มีอะไร" จะถึง
ไม่เหลืออะไร... เพราะ "ไม่มีอะไร" จะเหลือ
มี - ไม่มี... ไม่มี - มี... สัจธรรมนี้
มี... เพียงแต่... ธรรมชาติเป็นอยู่เช่นนั้น
ไม่มี... ตัวตนของใคร เป็น "ส่วนเกิน"
สิ้นยึด... สิ้นตัวตน
สิ้นตัวตน... พ้นทุกข์
หลวงตา : พระธรรมนี้ปรุงแต่งเป็นคำกลอน
เป็นคำสอนออกจากใจ
ผู้ใดค้นพบความจริงได้
ก็พบใจไร้ตัวตน
เป็นธรรมชาติสงบนิ่ง
ไม่ไหวติง ไม่สับสน
ไม่วุ่นวาย หายกังวล
หลุดพ้น เหตุผลไม่มี
เมื่อยังมีคำพูด จะที่สุดก็หาไม่
เพราะธรรมแท้ ...จบที่ใจ
ที่คิดปรุงแต่งได้ไม่แท้จริง
มีแต่สงบนิ่ง รู้จริงที่ใจ
แล้วไหนไยต้องพูดกัน
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562