ผู้ถาม : ผมคิดแบบเจ้าของคำถามเลยครับ
คิดว่านิพพาน คือสภาวะอายตนะที่เย็น เหมือนของสั่นมากจะร้อน พอสั่นน้อยลง ก็คือนิพพาน ตอนปฏิบัติก็เลยพยายามทำสังขารให้หยุดสั่น แต่กลายเป็นว่ายิ่งทำยิ่งสั่นไม่หยุด สั่นแบบเก็บกดลึก ๆ
แต่พอเหนื่อย พักแล้วมีกำลัง อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ตั้งใจทำอะไร ก็รู้สึกว่าได้สัมผัสอารมณ์เหนือรูปนาม แล้วก็อยากได้ แล้วก็พยายาม ๆ
ตอนคลุกวงใน มันงงไปหมดเลยครับ จับต้นชนปลายไม่ถูก
ทีนี้ก็เลยมีคำถามเพิ่มครับว่า
เนื่องจากรูปนามเกิดดับเป็นขณะ ๆ
รสนิพพานจะปรากฏตอนรูปนาม “ดับ” ใช่ไหมครับ
หลวงตา : ที่โยมเข้าใจว่า “รสนิพพานจะปรากฏตอนรูปนามดับ” นั้น เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง และจะมีผลทำให้การปฏิบัติที่ผิด โดยจะหลงพยายามยามไล่ดับจิตตสังขาร เพื่อ ให้พบรสนิพพานตอนจิตตสังขารดับหมด
หรือมิฉะนั้น ก็จะพยายามมองหาความว่างรอยต่อระหว่างจิตแต่ละดวง แต่กลับไม่เห็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือ มีตัวเราที่ไปคอยจับความว่าง หรือ ไปคอยจับรสของนิพพาน
ที่ถูกต้อง....
จะต้องเกิดปัญญาวิมุตติ รู้แจ้งประจักษ์แก่ใจว่า
“สัพเพสังขารา อนิจจา
สัพเพสังขารา ทุกขา
สัพเพธัมมา อนัตตา “
รูปนามเปลี่ยนแปลงเกิดดับตลอดเวลา
เป็นทุกข์
ไม่ใช่ตัวตนของเรา ยึดมั่นถือมั่นเอามาเป็นเรา ตัวเรา ของเราไม่ได้
ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น
“สัพเพธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ”
จึงสิ้นหลงยึดมั่นถือมั่น หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานดับสนิท
ใจหรือจิตเดิมแท้จึงบริสุทธิ์ เรียกว่า “นิพพาน”
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562