ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาครับ
เมื่อคืนลูกถามผมว่าเอาตัวเองไปรู้เป็นอย่างไร ผมอธิบายว่า อย่างเช่น เวลาเราคิดว่า
"เอาตัวเราไปรู้นี่เป็นอย่างไรกันนะ" แล้วเราก็ครุ่นคิดหาอยู่นั่นแหละ โดยไม่เห็นความคิดนั่น นั่นแหละคือเอาตัวเองไปรู้
ถ้าเราเห็นความคิด แล้วรู้ว่าความคิดนั่นเป็นสังขาร คือ ความปรุงแต่งเป็น ก็ไม่หลงเอาตัวเองไปรู้แล้ว
สรุปว่า เอาตัวเองไปรู้ คือ คนที่ไม่เห็นความคิด ไม่เห็นสังขาร แล้วน้องชมพูถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นไม่หลงหรือ ผมตอบว่าถ้ารู้อยู่ว่าคิดก็ไม่หลง
แล้วน้องชมพูพูดขึ้นมาลอย ๆ ว่า แค่รู้ก็พอ อย่างนี้จะตอบครูอย่างไร จะคิดข้อสอบอย่างไร ผมถามว่าหมายความว่าอย่างไร ลูกไม่พูดต่อ (ผมเข้าใจว่าคงหมายถึง รู้ด้วยใจที่ไม่คิดแล้วเวลาคิดการบ้านจะคิดอย่างไร ถ้าคิดจะไม่หลงหรือ)
ผมตอบว่า ถ้าคิดแล้วรู้อยู่ก็ไม่หลง คิดให้จบ คิดให้รู้แล้วก็พอ แล้วก็ให้รู้ว่าที่คิดมาแล้วรู้แล้ว ทั้งหมดนั้นเป็นสังขาร
ผมให้ลูกนอนหนุนแขนแล้วลูกขอให้ผมเล่านิทาน แต่วันนี้ผมขอเปลี่ยนเป็นเล่าธรรม จากนั้นผมพูดเรื่องรู้ด้วยใจ ตามที่ผมเข้าใจให้ลูกฟังว่า
รู้ด้วยใจ ยกตัวอย่าง เช่น เวลาเรานอนหลับไป พอตอนเช้ายังไม่ทันจะตื่นดี ก็ได้ยินเสียงนกร้อง เมื่อหูได้ยินเสียงนั้นก็เข้ามาถึงใจ ใจรับรู้ ขณะที่เสียงใส ๆ เข้ามาให้ใจได้รู้โดยที่ใจยังไม่ทันได้คิดอะไรนั่นแหละ รับรู้ด้วยใจ (ลูกพูดแทรกว่าเป็นรู้ซื่อ ๆ)
ผมพูดต่อว่า ถ้าต่อมาใจคิดว่า เสียงเพราะดี นั่นเป็นปรุงแต่งแล้ว เป็นรู้ไม่ซื่อ แล้วอธิบายต่ออีกนิดหนึ่งจนลูกหลับไปครับ …
กราบขออนุญาตถามหลวงตาครับว่าผมสอนลูกถูกหรือเปล่าครับ
หลวงตา : รู้เสียงนกร้องขึ้นมาเอง โดยไม่ทันได้ตั้งใจจะไปรู้เสียงนก
รู้นี้ เป็นธรรมชาติของธาตุรู้
เมื่อรู้เสียงนกแล้ว ธรรมชาติของขันธ์ห้า ต้องมีเกิดเวทนา คือ ความรู้สึกถูกใจ ไม่ถูกใจ หรือ ไม่ถึงกับถูกใจหรือไม่ถูกใจ จำได้ เอามาคิดปรุง ปรุงคิดในใจ ซึ่งเป็นปกติธรรมดา
ไม่ใช่รู้เสียงนก แล้วจะต้องไม่คิดต่อ
เมื่อจิตเขามีความรู้สึก นึก คิด ปรุงแต่งอย่างไรในปัจจุบันขณะ ธรรมชาติของธาตุรู้หรือใจ เขาก็ได้แต่แค่รู้จิต หรืออาการของจิตขณะนั้นตามความเป็นจริง
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562