ผู้ถาม : กราบเรียนขอโอกาสส่งการบ้านหลวงตาในรอบปีค่ะ
หนูกราบขอยอมรับผิดค่ะว่าในรอบปีที่ผ่านมา แม้หนูจะฟังไฟล์เสียงหลวงตาตลอด แต่หนูไม่ค่อยได้เพียรปฏิบัติ จนหลงเดินในทางทุกข์/สมุทัยอยู่นานค่ะ
จนเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับแชร์เสียงธรรมขององค์หลวงตามหาบัว ว่าด้วยเรื่อง หยุดคิดด้วยคำบริกรรม (ท่านได้แนะนำให้พุทโธแก้จิตเสื่อม) เมื่อหนูลองพุทโธ ก็พบว่าที่ผ่านมาหนูทุกข์เพราะส่งจิตออกนอกมาตลอด
อีกทั้งการที่ไม่ให้ความสำคัญกับสมาธิ ทำให้ไม่มีปัญญาและฟังธรรมก็ไม่ถึงใจด้วยค่ะ หนูเห็นโทษของการละเลยสมาธิแล้วค่ะ
ล่าสุดที่หนูฟังไฟล์ที่ชื่อ สติปัญญากำกับรู้ ซึ่งทำให้หนูเกิดความเข้าใจคำว่า "อวิชชา" ขึ้นมาใหม่ อวิชชาตามที่หนูเข้าใจคือการที่ธาตุรู้หมายเอานามและรูปของขันธ์ห้าของเราว่าตรงข้ามกับไตรลักษณ์ ส่วนวิชชาคือเห็นว่าเป็นนามและรูปของขันธ์ห้าของเราเป็นไตรลักษณ์
ส่วนการส่งจิตออกนอกตามความหมายของคำว่าสมุทัย คือส่งออกไปด้วยคิดว่านามรูปนั้นเที่ยง และเป็นของ ๆ เรา (หรือของคนอื่น) จึงเกิดทุกข์
แต่ถ้าการคิดนึกปรุงแต่งที่เข้าใจว่าเป็นเพียงนามธรรมที่เป็นไตรลักษณ์ (เพราะนามขันธ์ของเราเองที่เป็นไตรลักษณ์) ยึดไม่ได้ จึงไม่ก่อให้เกิดทุกข์
หนูกราบเรียนขอโอกาสหลวงตาสอบทานความถูกต้องในความเข้าใจของหนูด้วยเจ้าค่ะ
กับอีกกรณีหนึ่งหนูนึกน้อมภาพอสุภะไม่ค่อยได้เลยค่ะ มันเห็นเป็นความคิดเฉย ๆ
บางทีหนูลองกำหนดความรู้สึกว่าเราเป็นศพที่ยังมีลมหายใจหรือธาตุดิน/น้ำแทนได้ไหมคะ หนูควรพยายามอย่างไรต่อไปดีเจ้าคะ
ตอนนี้หนูฝึกแต่รู้สึกตัวทั่วพร้อมให้เห็นจิตค่ะหลวงตา หนูกราบขอคำแนะนำค่ะ
หลวงตา : “อวิชชา” คือ
1. ความไม่รู้ตามความเป็นจริงว่าขันธ์ห้า เกิดจากธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ และวิญญาณธาตุ หรือ ธาตุรู้ รวมห้าธาตุ ถ้ารวมอากาศธาตุ คือ ช่องว่างด้วย จะรวมเป็นหกธาตุ
เนื่องจากขันธ์ห้าเป็นสิ่งผสมปรุงแต่ง (สังขาร) จึงเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
2. ความไม่รู้ต้น ไม่รู้กลาง ไม่รู้ปลาย หรือ ไม่รู้อริยสัจ 4 คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
คือ ไม่รู้เหตุในอดีต ที่ส่งผลในปัจจุบัน หรือ
ไม่รู้ว่าผลที่ได้รับในปัจจุบัน เกิดมาจากเหตุในอดีตอย่างไร
และ ไม่รู้ว่าเหตุในปัจจุบัน จะส่งผลในอนาคตอย่างไร
เพราะ “อวิชชา” จึงหลงสร้างเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ หรือ สมุทัย คือ ตัณหา อุปาทาน
ทั้งนี้ เพราะไม่มีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันสังขารในใจตนในปัจจุบันขณะ จึงหลงสังขาร หรือ หลงคิด หลงปรุงแต่งไปตามกิเลส ตัณหา
เพราะ “วิชชา” คือ ความรู้แจ้งในกองสังขาร
จึงไม่หลงสังขารในปัจจุบันขณะ เพราะ
มีสติ สมาธิ ปัญญา ในอริยมรรค จึงรู้ว่าสังขารหรือขันธ์ห้า เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น จึงเพียรมีสติ สมาธิ ปัญญา พิจารณา รูปหรือร่างกายอย่างต่อเนื่อง ด้วยความอดทน (ขันติ) จนใจยอมรับตามความเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ)
ต่อจากนั้น เพียรมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันสังขารปรุงแต่งในใจตนทุกปัจจุบันขณะ ด้วยความอดทน (ขันติ) จนรู้แจ้ง และ ยอมรับตามความเป็นจริง ว่าจิตตสังขารในใจตนทั้งหมดในทุกปัจจุบันขณะ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น (สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)
แต่ก็ยังไม่จบแค่นี้ จะยังหลงยึดถือ “ผู้รู้ หรือ ผู้รู้แจ้ง” ว่าเป็นเรา หรือ เป็นตัวเราเป็นผู้รู้ หรือ เป็นผู้รู้แจ้งโดยไม่รู้ตัว
จึงหลงยึดถือ หรือ หลงรักษาใจให้บริสุทธิ์ โดยหลงเข้าใจผิดว่า เราถึงนิพพานแล้ว จึงมีเรา หรือ ตัวเรารักษานิพพาน ซึ่งยังมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน โดยไม่รู้ตัว
แท้ที่จริง ถ้ายังหลงยึดถือในความรู้สึกว่ามีเรา ตัวเรา หรือ ของเรา เช่น ตัวเราได้ ตัวเราถึง ตัวเราเป็น.... ตัวเราบรรลุนิพพาน หรือ
ใจของเราว่าง ใจของเราบริสุทธิ์ ใจของเรานิพพาน เป็นต้น
ก็จะยังไม่พ้นทุกข์ หรือ ไม่นิพพาน
จนกว่าจะมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันว่ายังหลงมีเรา ตัวเรา ของเรา ซึ่งเป็นสังขารปรุงแต่งปนอยู่ในรู้ จึงจะสิ้นหลงสังขาร
ธาตุรู้จึงบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ หรือ เรียกว่าจิตบริสุทธิ์ ใจบริสุทธิ์ หรือ นิพพาน
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2562