ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ สะดุดใจกับธรรมที่หลวงตาส่งมาที่ว่า เมื่อพบ “ใจ” หรือ ธาตุรู้ที่ไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร) หรือ จิตเดิมแท้ แล้ว ***** การปฏิบัติ มันจะกลับด้านของมันเอง ......... “ซึ่งแต่เดิมฝึกสติ สมาธิ ปัญญาในขันธ์ห้า คือ เพียรมีสติ รู้ ละ ปล่อย วาง” ........และไฟล์เสียง “สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ใจ”และภาพธรรมที่ว่า “อวิชชา” เกิดจาก “ใจ” ยึดถือ “ใจ” ยึดถือ “อวิชชา” สิ้นยึดถือ “ใจ” สิ้น “อวิชชา” จึงทำให้อ่านธรรมภาคปฏิบัติอันละเอียดลึกซึ้งที่ใจและการภาวนาไปต่อได้ คือ 1. สติสมาธิปัญญารู้อยู่ที่ใจ ที่เป็นอาการของใจจริง ๆ เป็นสัมมาก็มี คือ อาการรู้ สักแต่ว่ารู้ และสติสมาธิปัญญาที่เป็นอาการของจิต (ที่อวิชชาตัณหา) ในขันธ์ 5 เป็นมิจฉาก็มี 2 .เคยพบใจที่มีสติสมาธิปัญญาแล้ว ซึ่งมีอาการรู้สักแต่ว่ารู้ (สัมมา) แต่เพราะไม่รู้ (อวิชชา) จึงหลงยึด เอาอาการรู้สักแต่ว่ารู้ของใจ (สติ สมาธิ ปัญญา) มาเป็น “เรา” (อัสมิมานะ)ในขันธ์ 5 กลายเป็นผู้รู้ (มิจฉา) ไปเพียรรู้ละปล่อยวางอาการต่าง ๆ ของจิต ที่สุดแม้เพียงอาการเกิดดับ รู้ว่า อาการทั้งหมด สิ่งถูกรู้ทั้งหมด เป็นสังขาร ไม่ใช่เรา แต่ที่ไม่เห็นไม่รู้ว่า “มีเราเป็นผู้รู้” ไปรู้สิ่งอื่นนั้น ผู้ที่ไปรู้ไปเห็นนั้น ก็เป็นสังขาร เปรียบเหมือน คนอยู่ในที่มืด ผู้จับไฟฉายส่อง ไปเห็นสิ่งอื่นชัดหมด แต่ไม่เห็นตัวเองที่จับไฟฉายอยู่ จนความจริงปรากฏว่า สติ สมาธิ ปัญญา ก็ไม่เที่ยง มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ เรายึดเขาไม่ได้ เพราะมีเราไปพยายามรักษาไว้ หลงยึดเขาไว้ จะให้มีอยู่คงอยู่ จึงเป็นทุกข์ 3. จิตมุ่งไปรู้ไปสนใจไปหมกมุ่นสิ่งอื่นที่ถูกรู้ จึงไม่ทวนเข้ามาหาจิตผู้รู้ที่ไปรู้ ที่รู้อะไรแล้วจะคิดนึกตรึกตรอง วิตกวิจารณ์ พูดพากษ์ นี้คือ ผู้รู้ตัวปลอม รู้เห็นผู้รู้ตัวปลอมนี้แล้ว ยังต้องทวนเข้ามาอีก จึงจะพบใจหรือผู้รู้ตัวจริง หรือธาตุรู้ ที่มีสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่ใจ ที่รู้ว่า ทุกปัจจุบันขณะ “ใจไม่คิด แต่รู้ว่า คิดไม่ใช่ใจ” ใจเป็นประตูสู่พระนิพพาน จิตคิดเป็นประตูสู่วัฏฏะทุกข์ 4. เรียนรู้มาถึงตรงนี้ ว่าไม่พึงประมาทกิเลส อวิชชา ตัณหา ไม่พึงประมาทธรรมแม้เสี้ยววินาที ว่ารู้แล้ว เห็นแล้ว เพราะอาการที่ดี ๆ ทุกอาการของใจ เช่น อาการรู้ สักแต่ว่ารู้ รู้แจ้ง อาการเงียบสงบสงัด อาการโล่ง ว่างเบา สบายสว่าง ปีติ สุข ที่สุดแม้แต่ความไม่มี ไม่เป็นอะไร ไม่ปรุงแต่งอะไรใด ๆ ถ้าอวิชชา ตัณหา ยังไม่ดับสนิทจริง ๆ จะยังแอบซ่อน “เรา” ผู้ไปหลง (กลกิเลส) ยึดถือเอาอาการของใจ มาเป็นเชื้อเกิดของขันธ์ 5 ได้อีก ๆๆๆ กราบระลึกพระคุณหลวงตาด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ หลวงตา : ความเคลื่อนไหว ย่อมเคลื่อนไหวอยู่ในความไม่เคลื่อนไหว สิ่งใดเคลื่อนไหว สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดไม่เคลื่อนไหว สิ่งนั้นพ้นจากทุกข์ หลงสังขาร หรือ หลงคิด หลงปรุงแต่ง จึงเป็นทุกข์ พ้นสังขาร จึงพ้นทุกข์ แต่ถ้าหลงยึดความไม่เคลื่อนไหว จะกลายเป็นความเคลื่อนไหว จึงเป็นทุกข์ ผู้ถาม : เจ้าค่ะ หลวงตา ถ้าถาม ว่าความสุขแท้จริงอยู่ที่ไหน มันบอกได้ว่า ความสุขที่แท้จริง อยู่ตรงที่ขณะจิตที่ไม่มีตัวเราอยู่เลย ความธรรมดานั้นแหละ สงบที่สุด สันติที่สุด สันติยิ่งกว่าความอัศจรรย์ใด ๆ ทั้งหมดเจ้าค่ะ ความอยากมันลดลงเรื่อย ๆ เหมือนวงล้อที่ไม่มีใครไปหมุน มันหมุนช้าลงของมันไปเอง เพราะมันรู้แล้ว หมุนทีไรทุกข์ทุกที จับทีไรทุกข์ทุกที ทำอะไรทีไร วุ่นวายทุกที ถ้าเผลอหมุน แล้วรู้ มันก็ปล่อยเอง การเผลอไปหมุน ก็น้อยลง และสั้นลงเรื่อย ๆ ของมันเองเจ้าค่ะ หลวงตา : สาธุ เป็นเช่นนั้นจริง ๆๆ … ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2562