ผู้ถาม : กราบเรียนหลวงตา ได้ลองทำสมถะ โดยการกำหนดลมหายใจ เป็นวิตกวิจารณ์ ลงสู่ความสงบได้อยู่ แล้วสังเกตว่า ตอนที่มันสงบจริงๆ มันจะไม่อาจพิจารณากายได้เลย แต่พอมันขึ้นมาแล้วจากความสงบ นิมิตกายมันจะชัดมาก เห็นศพตัวเองที่ขาวซีด ห้อยต่องแต่งอยู่กับต้นไม้ แล้วตรงกลางลำตัวเปิดออก โชว์อวัยวะภายในช่องท้องหมดสิ้นเลยเจ้าค่ะ เห็นแขวนอยู่กับต้นไม้ที่เดินผ่าน ซ้อนกับตาเนื้อเลยเจ้าค่ะ เลยเป็นภาพที่ติดจิตอยู่ ก็มีอีกามาสาวไส้ต่อเลยกับร่างที่แขวนอยู่นั่นแหละ เข้าใจว่ากรณีแบบนี้ คือ พิจารณากายไปเรื่อยๆ เป็นหลักตามเดิม จนกว่ามันจะพิจารณาไม่ได้ หรือฟุ้งซ่านออกไปเรื่องอื่น เอาไม่ลง ค่อยทำสมถะใหม่ ถูกต้องไหมเจ้าคะหลวงตา สังเกตอีกอย่างว่า ความสงบที่เกิดจากวิธีนี้ มันจะลึกและละเอียดกว่าความสงบที่เกิดจากการพิจารณาความตาย หรืออสุภะเจ้าค่ะ มันคนละอย่างกัน คืออันนี้มันสงบลึก แต่สงบอย่างเดียว ต้องเอามาม้างกายอีกทีจึงเป็นปัญญา แต่ถ้าสงบแบบพิจารณาความตายเป็นเครื่องอยู่ หรือใช้อสุภะเป็นอารมณ์เป็นเครื่องล่อ มันสงบไม่ลึก แต่มีการปล่อยวางอยู่ในตัว คือมันสงบแบบวางไปด้วยเบ็ดเสร็จ มันแตกต่างกันอยู่ แต่คิดว่ามีประสบการณ์ทั้งสองแบบก็ได้เรียนรู้ดีเหมือนกันเจ้าค่ะ หลวงตา : ถ้าเลือกกรรมฐานเกี่ยวกับการพิจารณากายคตาสติ อสุภกรรมฐาน หรือ มรณานุสสติ (ความตาย) จนจิตเป็นอุปจารสมาธิ มันจะทำให้เกิดปัญญารู้แจ้งสัจธรรมที่ใจ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สลดสังเวช ปลงปล่อยวาง สิ้นความยึดมั่นถือมั่น พ้นทุกข์ไปเลย เป็นปัญญาวิมุตติ ถ้าเลือกกรรมฐานที่ใช้สัมปชัญญะ สติในการบริกรรม หรือกสิณเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ใส่ใจกับอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะมีความสงบได้ถึงอัปนาสมาธิ จิตรวมเป็นฌาน เมื่อสงบแล้ว ตอนจิตเริ่มถอนออกจากสมาธิ ก็พิจารณากายคตาสติ อสุภะกรรมฐาน หรือ มรณานุสสติ ต่ออีกทีหนึ่ง จนเกิดปัญญารู้แจ้งสัจธรรมที่ใจ ในอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สลดสังเวช ปลงปล่อยวาง สิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น พ้นทุกข์ไป เป็นเจโตวิมุตติ แล้วแต่วาสนาบารมีเก่า ถ้าเลือกกรรมฐานที่ถูกจริต จิตจะสงบเป็นสมาธิเร็ว แล้วจึงใช้ปัญญาพิจารณาสัจธรรม แต่ถ้าเลือกกรรมฐานไม่ถูกกับวาสนาเก่า จิตจะไม่ค่อยสงบ ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563