ผู้ถาม : โยมคิดเอาเองว่า โยมเข้าใจทั้งข้อความของน้องหญิงและบทความของท่านพระอาจารย์มั่น เรื่อง ฐีติภูตัง และ ฐีติญาณัง เพราะเคยอ่านมาก่อน และได้ทำความเข้าใจมาแล้วว่า มูลเหตุของอวิชชามาจาก “ความหลง” ที่ก่อเกิดในจิตดวงแรก แล้วส่งต่อกันมา เป็นปัจจยการสืบทอดมาเรื่อยๆ และทำให้มีภพชาติสืบเนื่องมาตลอดๆ ตราบใดที่ยังไม่สิ้น อวิชชา (ความหลงยึดมั่น)
การมี “วิชชา” ที่เป็น สัมมาทิฐิ คือ “ปัญญาเห็นชอบขั้นสูงสุดคือ สิ้นยึดมั่นถือมั่น” เท่านั้น จึงจะ ทำลาย อวิชชาลงได้ราบคาบ ใช่ไหมเจ้าคะ แล้วปัญญาสูงสุดที่ต้องมี คือ หลักธรรมชาติ ธรรมดาๆ นี้เอง (ไม่ได้มีอะไร พิสดารเลย)
แค่เห็นด้วยปัญญาตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ ของสิ่งที่เป็นอยู่ (วิสังขาร) และสิ่งที่มีขึ้นและดับไป (ของสังขารปรุงแต่ง) เท่านั้น ธรรมชาติของทั้ง 2 อย่าง เป็น “ตถตา“ คือเป็นเช่นนี้ ไม่สามารถเป็นอย่างอื่นไปได้
ว่าไปแล้ว ตอนนี้โยมเชื่อมคำนี้ ตถตา กับทุกๆ สิ่ง ทำให้รู้สึกว่า เดินได้อย่างมั่นคง ด้วยสติ สมาธิ ปัญญา ในการพิจารณาธรรมได้ต่อเนื่องๆ เจ้าค่ะ ถูกต้องหรือเปล่าคะท่าน แต่ที่โยมยังรู้สึกติดใจอยู่นิดๆ คือ ความหลงในฐีติภูตังนั้น ยังมีที่มาอีกป่าวคะท่านพระอาจารย์
ขอท่านพระอาจารย์ เมตตาชี้แนะความเข้าใจที่ยังคลาดเคลื่อนให้ด้วยนะเจ้าค่ะ ปัญญาน้อยเจ้าค่ะ ตามท่านพระอาจารย์ยังไม่ค่อยทันเลยเจ้าค่ะ
กราบนมัสการมาด้วยความเคารพยิ่งเจ้าค่ะ
หลวงตา : ความหลงในฐีติภูตัง (อวิชชาในจิตเดิมแท้) มีที่มา ได้แก่
“อาสวะ” คือ กิเลสเครื่องดองสันดาน ได้แก่
“กามาสวะ” คือ ความดิ้นรนทะยานอยากในกาม
“ภวาสวะ” คือ ความดิ้นรนทะยานอยากในภพ
“อวิชชาสวะ” คือ ความดิ้นรนทะยานอยากด้วยความไม่รู้แจ้งในอริยสัจสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธมรรค เช่น ดิ้นรนทะยานอยากหลุดออกจากกาม ดิ้นรนทะยานอยากหลุดออกจากภพ ดิ้นรนทะยานอยากหลุดออกจากความทุกข์
ซึ่งรวมความดิ้นรนทะยานอยากแล้ว ได้แก่ อยากเอา อยากได้ อยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ อยากเป็นอย่างนั้น อยากเป็นอย่างนี้ อยากรู้ อยากเห็น หรือ อยากรู้แจ้ง อยากสำเร็จ อยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ อยากพ้นทุกข์ หรือ อยากนิพพาน
อวิชชา มาจาก อาสวะ
แล้วอาสวะ มาจากไหน ?
อาสวะ ก็มาจาก “อวิชชา”
คือ ความไม่รู้แจ้งในอริยสัจ 4 หรือ ไม่รู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาท จึงหลงยึดมั่นถือมั่นว่ามีเราเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา หรือ เพราะหลงยึดถือว่ามี “กู” จึงมี “ของกู” ซึ่งเป็นตัวเริ่มตนของอวิชชา อาสวะ หรือ อาสวะ อวิชชา กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์ ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ และความทุกข์ทั้งมวล
จึงมีเรา หรือ ตัวเราหลงสังขารคิดปรุงแต่ง ดิ้นรนทะยานอยาก และเกิดความสงสัย? ในใจตลอดเวลา โดยไม่มีสติ สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่ง รู้เท่าทันจิตที่แสดงพฤติกรรมอย่างนั้นในปัจจุบันขณะ ว่ามีเรา ตัวเราหลงสังขาร คิดปรุงแต่ง หรือ มีเรา ตัวเราหลงเป็นผู้ขับเคลื่อนสังขาร เพื่อให้ตัวเราสมใจอยาก ซึ่งอวิชชา ตัณหา อุปาทานตลอดเวลา เป็นวัฏฏะสงสาร หมุนวนในอวิชชา กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์
แล้วก็อวิชชา กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิบากวัฏฏ์....อย่างนี้เรื่อยไป......
ดังนั้นถ้าดับ “อวิชชา” ซึ่งเป็นความไม่รู้แจ้งในอริยสัจสี่ หรือ ในปฏิจจสมุปบาท. ให้เป็นความรู้แจ้ง (วิชชา) ขึ้นมา
แล้ว “อวิชชา” ซึ่งเป็นความไม่รู้ก็จะดับไป เมื่ออวิชชาดับ กิเลส กรรม และวิบากก็ดับหมด หรือ ปฏิจจสมุปบาทดับหมด
เรียกว่า “สอุปาทิเสสะนิพพาน”
แต่เมื่อยังไม่ตาย สังขารในขันธ์ห้ายังเกิดดับทำหน้าที่ของเขาอยู่ ในที่สุดก็ต้องเสื่อม แก่ เจ็บ ตาย ดับหมดทั้งกิเลส ความทุกข์ และ ขันธ์ห้า เป็น “อนุปาทิเสสะนิพพาน”
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563