ผู้ถาม : “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค” อันนี้หนูก็ยังสงสัยเจ้าค่ะหลวงตา แต่เดาว่าหมายถึง ใจ (วิสังขาร) รู้ตัวเองหรือป่าวเจ้าคะ?
หลวงตา : “จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นมรรค ผลแห่งจิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง เป็นนิโรธ”
หมายถึงญาณเห็นจิตเหมือนดั่งตาเห็นรูป คือ ญาณรู้เห็นจิตที่คิดนึกตรึกตรองปรุงแต่งแสดงกิริยาหรืออาการต่างๆ ในปัจจุบันขณะ เกิดเองดับเองตามเหตุปัจจัย (ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ) รู้แบบ one way คือ จะไม่ย้อนกลับมารู้เห็นใจ (ผู้รู้) หรือ ไม่ปรากฏผู้รู้
เหมือนกับตาเห็นรูป จะปรากฏแต่รูปที่มาให้เห็นแล้วดับไปๆๆๆ โดยจะไม่ย้อนกลับมารู้เห็นตา หรือ ปรากฏแต่รูปที่ถูกเห็น จะไม่ปรากฏตาผู้เห็น
อีกกรณีหนึ่ง
“จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้ง”
หมายถึงในปัจจุบันขณะ ต้องบอกตนเองได้ว่า
พฤติกรรมของจิตอย่างนี้ แสดงว่าหลงคิดปรุงแต่ง หรือ หลงส่งจิตออกนอกไปยินดี ยินร้าย มีความหลงเพลินใจ กังวลใจต่อรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัส) ต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ ถอนความพอใจและความไม่พอใจที่จะทำพฤติกรรมในจิตอย่างนั้นเสียได้
พฤติกรรมของจิตอย่างนี้ แสดงว่าหลงติดจมแช่นิ่งอยู่กับอารมณ์ที่ถูกรู้ หรือ อาการของจิตที่ถูกใจ เช่น ยินดีพอใจอาการว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบาย สงบ นิ่ง เฉย หรือ ไม่ยินดีไม่พอใจดิ้รนผลักไสอาการของจิตที่ไม่ถูกใจ (กรณีเช่นนี้ก็หลงส่งจิตออกนอกไปยุ่งวุ่นวายกับอาการที่ถูกรู้) ต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ ถอนความพอใจและความไม่พอใจ ที่จะทำพฤติกรรมในจิตอย่างนั้นเสียได้
พฤติกรรมของจิตเช่นนี้หลงสะกดจิตตนเอง เช่น มีอาการนิ่ง เฉย จุก แน่น ทึบ อยู่ภายใน จนมีอาการซึมเซา (กรณีเช่นนี้ก็หลงส่งจิตออกนอกไปหาธรรมมารมณ์ คือ ไปยุ่งวุ่นวายกับอาการของใจที่ถูกรู้) ต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ ถอนความพอใจและความไม่พอใจที่จะทำพฤติกรรมเช่นนั้นในจิตเสียได้
พฤติกรรมของจิตในปัจจุบันขณะเช่นนี้ แสดงถึงความหลงยึดมั่นถือมั่นขันธ์ห้าว่ามีเรา ตัวเรา ของเราเป็นตัวตนที่เที่ยง แล้วหลงเอาตัวเราพยายามกระทำอะไรด้วยกิเลสตัณหา ต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ ถอนความพอใจและความไม่พอใจที่จะทำพฤติกรรมเช่นนั้นในจิตเสียได้
การรู้แจ้งจากใจในปัจจุบันขณะอย่างนี้ คือ ญาณเห็นจิตเหมือนดั่งตาเห็นรูป คือ ญาณรู้เห็นจิตที่คิดนึกตรึกตรองปรุงแต่งแสดงกิริยา หรืออาการต่างๆ ในปัจจุบันขณะ เกิดเองดับเองตามเหตุปัจจัย (ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ) รู้แบบ one way คือ จะไม่ย้อนกลับมารู้เห็นใจ (ผู้รู้) หรือ ไม่ปรากฏผู้รู้
เหมือนกับตาเห็นรูป จะปรากฏแต่รูปที่มาให้เห็นแล้วดับไปๆๆๆ โดยจะไม่ย้อนกลับมารู้เห็นตา หรือ ปรากฏแต่รูปที่ถูกเห็น จะไม่ปรากฏตาผู้เห็น ซึ่งกรณีนี้ จะไม่มีผู้เสวยให้เป็นทุกข์
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2563