ผู้ถาม :กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ
กราบขอโอกาสค่ะ หนูนั่งสมาธิแล้วดูลมหายใจไปสักพัก แล้วเห็นว่าจริงๆ แล้วลมหายใจมันเข้าเอง ออกเอง มันไม่ได้อยู่ในบังคับของเรา เพิ่งเคยเห็นและรู้แบบนี้เป็นครั้งแรกเลยเจ้าค่ะ
แบบนี้คือการเห็นอนัตตาไหมเจ้าคะ
แล้วขณะที่เห็นและเข้าใจ ตัวที่ไปเห็นว่าลมหายใจมันเข้าเอง ออกเอง ตัวนั้นเป็นวิญญาณขันธ์ที่เป็นผู้รู้ใช่ไหมเจ้าคะ ขณะนั้นมันพูดได้ว่า อ๋อ มันเป็นแบบนี้เอง ลมหายใจมันเข้าเองออกเอง แล้วก็งุ้งงิ้งๆ ส่วนธาตุรู้คือตัวที่รู้ว่ามีตัวหนูไปรู้อีกทีหนึ่ง
อีกเรื่องหนึ่งเจ้าค่ะ หนูสังเกตว่า จิตที่มันปรุงขึ้นมาเอง กับจิตอวิชชามันเกิดแบบคลุกเคล้ากันเจ้าค่ะ
คือจิตที่มันปรุงขึ้นมาเอง มันจะเกิดทันทีที่มีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยเรายังไม่ทันได้คิด คือมันเหมือนเป็นออโต้นะเจ้าค่ะ แต่พอหลังจากนั้นปุ๊บ ส่วนใหญ่จะมีจิตอวิชชาเข้าไปทำอะไรกับความคิดอันนั้น เหตุการณ์แบบนี้มันจะเกิดในระหว่างที่ไม่ได้ตั้งใจจะปฏิบัติธรรม เดินจงกรมเจ้าค่ะ แต่พอจะว่างปุ๊บ ก็มีจิตอวิชชาที่มีเรา ของเรา เป็นตัวเริ่มเข้าไปดู แกล้งไม่ดู เมินๆ ชำเลืองดู หลายๆ แบบเลยเจ้าค่ะ
แต่มันก็ทำให้เห็นว่าไม่สามารถบังคับให้มันเข้าไปหรือไม่เข้าไป เพื่อทำหรือไม่ทำอะไรกับความคิดที่เกิดขึ้นเลย ยังไงมันก็มีการกระโจนเข้าไปอยู่ดี จนตอนนี้รู้สึกว่าหนูไม่สามารถบังคับอะไรมันได้เลย มันกำลังแสดงความเป็นอนัตตาให้ดูอยู่หรือเปล่าเจ้าคะหลวงตา
ตื่นนอนมาแต่ยังไม่ลืมตา จะรู้ความคิดที่มันปรุงๆๆๆ จนข้างในมันตะโกนว่า เบื่อจริงๆ เลย วันๆ ทำไมมันคิดแต่เรื่องไร้สาระแบบนี้ แล้วก็สะดุ้งเลยเจ้าค่ะ ว่านี่แหละความไม่มีแก่นสารสาระของจิตไง
กราบขอโอกาสหลวงตาเมตตาชี้แนะเจ้าค่ะ
หลวงตา : รู้เห็นแจ้งจากใจจริงๆ ว่า จิตตสังขาร (ความรู้สึก นึก คิด ตรึกตรอง ปรุงแต่ง และอารมณ์ทั้งหมดทุกปัจจุบันขณะ) เขาเป็นธรรมชาติของสังขารปรุงแต่ง เกิดเองดับเอง เกิดเองดับเอง ไม่มีผู้เสวย (ผู้ยึดมั่นถือมั่น)
เมื่อสิ้นผู้เสวย ก็สิ้นตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่น จึงสิ้นกิเลส พ้นทุกข์ (นิพพาน)
“อวิชชา” คือ ความไม่รู้แจ้งสัจธรรม ได้แก่ ความไม่รู้แจ้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ ไม่รู้แจ้งอริยสัจ 4
“ตัณหา” ความคิดปรุงแต่งดิ้นรนทะยานอยากไปตามกิเลส
“อุปาทาน” คือ ความหลงยึดมั่นถือมั่นสังขาร หรือ ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตัวเรา ของเรา
ต้นไม้ตัณหามี “ดำริ” เป็นรากแก้ว
“ดำริ” ความหลงคิดปรุงแต่งยึดถือ ก็เพราะมี “อวิชชา” เป็นรากแก้ว หมายถึง เพราะความไม่รู้แจ้งสัจธรรม จึงหลงยึดสังขาร (ขันธ์ห้า) ว่าเป็นตัวเรา ของเรา แล้วหลงเอาตัวเราคิดปรุงแต่งดิ้นรนทะยานอยากไปตามกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (อาสวะ)
“อาสวะ” คือ กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน เกิดจาก “อวิชชา” ความไม่รู้แจ้ง “สัจธรรม” จึงหลงยึด (ยึดมั่นถือมั่น) จิตหรือวิญญาณธาตุว่าเป็นตัวเรา ของเรา (อุปาทาน)
ครั้น จิตหรือวิญญาณธาตุอวิชชา เข้ามาผสมกับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ รวมเป็นหกธาตุ ก็เกิดเป็นสังขาร คือ ขันธ์ห้าขึ้นมา และด้วยจิตอวิชชาจึงหลงยึด (ยึดมั่นถือมั่น) ขันธ์ห้าเป็นตัวเรา ของเรา (อุปาทานขันธ์ห้า) แล้วหลงเอาตัวเราคิดปรุงแต่งดิ้นรนทะยานอยาก (ตัณหา) ไปตามกิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน (อาสวะ)
สิ้น “อาสวะ” เพราะ “อวิชชา”ดับ “อุปาทาน” ก็ดับ “ตัณหา” จึงดับ
ดังนั้น “อวิชชา” ดับหมด
จึงเป็นเหมือนสวิตซ์ตัดไฟตัวใหญ่ต้นทางดับไฟปลายทาง เปรียบเหมือนกิเลส ตัณหา อันเนื่องมาจากอุปาทาน และอุปาทานก็เนื่องมาจาก “อวิชชา” จึงดับหมด
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563