ผู้ถาม : ทบทวนธรรมไปมา สุดท้าย มันแจ้งด้วยธรรม "สิ้นสุดเพราะหยุดแสวงหา" ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีหยุดอยู่ แค่สภาวะของจิตที่ดำเนินไปตามธรรม ตามเหตุตามปัจจัย หากมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปบังคับให้เขาเป็นไป ในทางหนึ่งทางใดไม่ได้เลย สภาวะที่จิตดำเนินของจิตเองเป็นธรรมโดยแท้ กราบ กราบ กราบ
หลวงตา : จิตเขาเกิดเอง ดับเอง ๆๆๆๆๆ .....
ผู้ถาม : เจ้าค่ะ กราบ กราบ กราบ
เหมือนที่หลวงปู่ดูลย์ท่านว่า ใช้จิตเที่ยวแสวงหาจิตนานกี่กัปก็ไม่มีวันเจอเจ้าค่ะ
หลวงตา : สาธุ
ผู้ถาม : ธรรมทั้งละเอียด หยาบ ปานกลาง มาจากที่เดียวกันหมดเลยเจ้าค่ะ มาจากความไม่มี
กิเลสกับธรรมก็มาจากที่เดียวกัน เพราะกิเลสก็คือธรรมชาติอันหนึ่ง ธรรมก็ธรรมชาติที่รู้กิเลส เขารู้กันเอง… หาที่ใช่เราไม่มีเลยเจ้าค่ะ
หลวงตา : “ใจ” แท้ คือ ความไม่มีตัวจิต ตัวใจ ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีการปรุงแต่ง ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา
มันว่างเปล่าเหมือนท้องฟ้าหรืออวกาศ แต่มันไม่ใช่ความว่างที่เป็นอากาศ แต่มันเป็นธาตุรู้ที่ว่างเปล่า
***** มันจึงเป็นธรรมชาติที่สงบเงียบที่สุดในท่ามกลางความปรุงแต่ง โดยไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใด
“ใจ”แท้ มันเป็นธรรมชาติรู้ของมันเอง
ไม่ใช่เป็นใจเรา หรือ เป็นใจของเรา
ไม่ใช่เรา หรือ ตัวเราเป็นคนรู้
ธาตุรู้ ซึ่งเป็นธรรมธาตุ เขารู้ของเขาเอง โดยไม่มีตัวตนของผู้รู้ หรือ เป็นความรู้ที่ว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากความปรุงแต่ง ว่างเปล่าจากอาการ
ผู้ถาม : เจ้าค่ะ
หลวงตา : “ใจแท้”
“ว่างเปล่าที่สุด” เพราะไม่มีตัวตน ไม่มีรูปลักษณ์
“สงบเงียบที่สุด” เพราะเป็นธรรมชาติไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร อสังขตธาตุ หรือ อสังขตธรรม)
ผู้ถาม : หมดคำพูดเจ้าโดยปริยายเจ้าค่ะ... เหมือนส่งการบ้านต่อหน้าหลวงตาเลยเจ้าค่ะ
พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์ องค์หลวงตาอยู่ในทุกที่เลยเจ้าค่ะ
หลวงตา : ส่วนขันธ์ห้า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นธรรมชาติปรุงแต่ง จึงเกิดดับ เป็นทุกข์
เมื่อธาตุขันธ์ยังไม่ดับ ขันธ์ห้าก็ยังเป็นสังขารปรุงแต่งอย่างเก้อ ๆ ไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ
ส่วน “ใจแท้” ไม่ใช่ขันธ์ห้า แต่เป็นธาตุรู้แท้ ว่างเปล่า เงียบ สงบ อย่างเก้อ ๆ ไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือ
ผู้ถาม : ใช่เจ้าค่ะ เพราะรู้ว่าขันธ์ห้านี้ที่เป็นทุกข์ เพราะธรรมชาติของเขาเป็นเช่นนั้นเอง ส่วน "ใจแท้ ๆ" ไม่ว่าขันธ์ห้ามันจะเป็นอย่างไร มันก็สงบของมันเช่นนั้น
หลวงตา : สาธุ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563