ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ อย่างที่หลวงตาเคยสอนมาตลอดว่า “ผู้พูด ผู้พากษ์ มันพูดไม่หยุดหรอกถ้ายังไม่ตาย”
แต่ก่อนไม่เคยเห็นชัดเจนแบบนี้เลยเจ้าค่ะ เพราะมัวแต่ไปเป็นมันอยู่ มัวแต่หลงสังขาร และไม่ค่อยมีสติเจ้าค่ะ หนูเพียรปฏิบัติแบบที่หลวงตายกตัวอย่างว่า สติเปรียบเหมือนเจ้านาย ที่สั่งให้จิตซึ่งเปรียบเหมือนลูกจ้าง คอยทำงาน คือ “พุทโธ” ไว้นะ การบริกรรมทำให้เห็นชัดเจนว่า มันพูด มันพากษ์ไม่หยุดจริง ๆ เจ้าค่ะ
ดูคลิป vdo เรื่อง “ความจริงของสิ่งไม่เที่ยง” ที่หลวงตาส่งมาวันนี้ แล้วย้อนกลับมาดูตัวเรา สำหรับหนูแล้ว เรื่องของรูปกายมันปล่อยวางได้ง่ายกว่า หมายถึงใจมันยอมรับได้ง่ายกว่าเรื่องจิตวิญญาณ ความคิด ความรู้สึก หมายถึงว่าพอสังขารมันปรุงอะไรขึ้นมา ถ้ามันจำได้มันเป็นตัวเราทุกครั้งเลยเจ้าค่ะหลวงตา
ก็เพียรพยายามสอนใจตัวเอง (มีเราเข้าไปแทรกแซงอีกแล้วเจ้าค่ะ) ว่ามันไม่มีเรามาแต่แรก แต่ใจจริง ๆ มันยังไม่ยอมรับมันเป็นแค่ "เข้าใจ" เจ้าค่ะ ก็ได้แต่รู้ว่าไม่ยอมรับ อยากให้ยอมรับยิ่งไม่ยอมรับ เพราะมีเรายังอยากอยู่เจ้าค่ะ เพียรมีสติรู้อยู่เจ้าค่ะหลวงตา กราบขอหลวงตาโปรดเมตตาชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : มันมีตัวเรายืนพื้นไว้ในใจรอความหวัง ความปรารถนา ความสำเร็จ
***** ธรรมะ หรือ นิพพาน คือ ได้แต่ “รู้ในปัจจุบัน” (คือ รู้ทุกอย่าง ไม่ติดยึดแม้แต่อย่างเดียว ไม่ติดยึดทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และ ผู้รู้)
***** แต่รู้แล้วอย่างนี้ ก็หมายไว้ผิดว่า ถ้าสักแต่ว่ารู้ หรือ แค่รู้ในปัจจุบันได้ “เราจะนิพพาน”
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563