ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาด้วยใจเคารพนอบน้อมเจ้าค่ะ
ขอโอกาสหลวงตาเมตตาช่วยขยายความเจ้าค่ะ
# การรู้โดยไม่คิดเอง คือ การเดินวิปัสสนาที่ละเอียดที่สุด
ตราบใดที่ยังเห็นว่า จิต คือ ตัวเรา เป็นของ ๆ เรา ที่ต้องช่วยให้จิตหลุดพ้น
ตราบนั้นตัณหา หรือ สมุทัยก็จะสร้างภพของ "จิตว่าง" ขึ้นมาร่ำไป
ที่บอกว่าตัณหาจะสร้างภพของ "จิตว่าง" ขึ้นมาร่ำไป คืออย่างไรเจ้าคะ
กราบ กราบ กราบ แทบเท้าหลวงตาเจ้าค่ะ เป็นคำสอนขององค์หลวงปู่ดูลย์เจ้าค่ะ
หลวงตา : กราบขอโอกาสพ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ขออนุญาตขยายความคำสอน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในธรรม
คำถาม
“การรู้โดยไม่คิด คือ การเดินวิปัสนาที่ละเอียดที่สุด” เป็นอย่างไรนั้น
หมายถึงรู้จิตตสังขาร ความคิด หรือ ความปรุงแต่งในปัจจุบันขณะจิตนั้นขึ้นมาเอง โดยไม่มีเจตนารู้ (รวมทั้งไม่จงใจรู้ ไม่พยายามรู้ ไม่ตั้งใจรู้ด้วย) เป็นการรู้โดยไม่คิด
ผู้ที่รู้เห็นแบบนี้ได้ ต้องฝึกจนถึงขั้นที่ในปัจจุบันขณะ ไม่มีเจตนาคิด หรือ เจตนาปรุงแต่งจิตอย่างใด ๆ
แล้วจะรู้จิตตสังขารในปัจจุบันขณะนั้นขึ้นมาเองโดยไม่มีเจตนารู้ ว่า.....
***** จิตตสังขารเขาเกิดเอง ดับเอง … เกิดเอง ดับเอง… ๆๆๆๆ ......
***** ส่วนผู้รู้ก็ไม่มีเจตนาที่จะดูหรือรู้อะไร เขารู้ของเขาขึ้นมาเอง
เป็นธาตุรู้แท้ หรือ วิญญาณธาตุแท้ ซึ่งเป็นจิตดั้งเดิมตั้งแต่กำเนิดจิต หรือ ธาตุรู้ขึ้นมาในจักรวาล พร้อมกับมี “อวิชชา” ความหลงยึดมั่นถือมั่นจิตว่าเป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เราติดมาด้วย
“จิตดั้งเดิม” เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม เป็นความรู้ขึ้นมาเอง โดยไม่มีเจตนารู้ จึงเป็นความรู้ที่ไม่คิด ไม่ได้เกิดจากจิตปรุงแต่ง แต่เป็นธาตุรู้ หรือ วิญญาณธาตุแท้ ที่รู้ขึ้นมาเอง เป็นของเป็นเอง เขาเป็นธรรมชาติที่มีอยู่แล้วในพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอรหันต์ ปุถุชน และ สรรพสัตว์ทั้งหมด แต่ปุถุชนและสรรพสัตว์ทั้งหลาย มีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือ หลงคิด หลงปรุงแต่ง หลงยึดมั่นถือมั่น จึงปิดบังธาตุรู้แท้ตามธรรมชาติเสียหมด
***** ถึงแม้จะใช้ความพยายามดิ้นรนค้นหา ปรุงแต่งสักเพียงใด ก็ไม่อาจพบจิตดั้งเดิม ซึ่งเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติได้ เพราะธาตุรู้เขาเป็นธรรมชาติที่เป็นเอง รู้ขึ้นมาเอง โดยไม่คิดและไม่มีเจตนารู้
***** ดังนั้น # การรู้โดยไม่คิด จึงเป็นการเดินวิปัสสนาที่ละเอียดที่สุด
***** ผู้ใดฝึกมาถึงขั้นนี้ ก็จะรู้เห็นจากใจว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง (สังขาร) มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหมดนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา” (ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สัพพันตัง นิโรธธัมมันติ) ซึ่งเป็นธรรมในขั้นพระโสดาบัน
คำถาม.....
“ตราบใดที่ยังเห็นว่า จิต (จิตดั้งเดิม) คือ ตัวเรา เป็นของ ๆ เรา ต้องช่วยให้จิตหลุดพ้น
ตราบนั้นตัณหา หรือ สมุทัยก็จะสร้างภพของ "จิตว่าง " ขึ้นมาร่ำไป
ที่บอกว่าตัณหาจะสร้างภพของ "จิตว่าง" ขึ้นมาร่ำไป คืออย่างไรเจ้าคะ”
แม้ปฏิบัติมาจนถึงธรรมขั้นพระโสดาบันแล้ว แต่ถ้ายังหลงยึดถือ จิตดั้งเดิม ซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เรา จึงมีความพยายามช่วยให้จิตให้เป็นรู้ที่ไม่คิด หรือ เป็นรู้ที่ว่างเปล่า อย่างถาวรเป็นอมตะตลอดไป จึงเป็นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นสมุทัย หรือ เป็นเหตุปัจจัยให้สร้างภพของ “จิตว่าง”
เป็นเป้าหมายที่ตัวเราจะถึง จะได้ จะเป็น จะบรรลุไว้ในอนาคตโดยไม่รู้ตัว
จึงหลงปรุงแต่งจิต มีความพยายามกระทำอะไร เพื่อจะให้สำเร็จตามเป้าหมายที่คาดหวังไว้ คือ จิตว่าง หรือ ผู้รู้ที่ว่างเปล่า ผู้รู้ที่ไม่คิด
***** ขณะจิตใด เกิดปัญญาวิมุตติ รู้แจ้งแก่ใจในปัจจุบันขณะ ว่า “จิตดั้งเดิม ซึ่งเป็นธาตุรู้ เขาเป็นธรรมชาติที่รู้ขึ้นมาเอง เป็นของเป็นเอง ปรุงแต่งเอาไม่ได้ เขาเป็นธรรมชาติที่เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม คือ เป็นธรรมชาติไม่มีตัวตน ไม่มีจุด ต่อม ที่ตั้ง หรือสภาวะใด ๆ อันมีรูปลักษณ์หรือเครื่องหมาย ที่จะให้มีที่หมายได้
ไม่ใช่ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ใช่ความว่างที่เป็นอากาศ
ไม่ใช่อรูปฌาน
เป็นธรรมชาติที่ไม่มีเหตุปัจจัยปรุงแต่ง จึงไม่เกิดดับ ไม่มีตัวตนของผู้รู้ ไม่อาจคิด ไม่อาจปรุงแต่ง ซึ่งเป็นคุณสมบัติตามธรรมชาติของเขาเอง (จึงไม่อาจใช้ความพยายามหยุดคิด หยุดปรุงแต่ง หรือ พยายามทำให้เป็นรู้โดยไม่คิดได้ เพราะอาการเหล่านี้ล้วนแต่เป็นความปรุงแต่งโดยมีเจตนา) ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่ง
***** เมื่อพบจิตหรือใจดังเดิม ซึ่งเป็นวิญญาณธาตุ หรือ ธาตุรู้ตามธรรมชาติ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ใช่เป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เรา เรียกว่า “พบธรรม”
แต่ก็ยังไม่นิพพาน
เพราะเมื่อพบจิตหรือใจดั้งเดิม ซึ่งเป็นธาตุรู้ที่รู้ขึ้นมาเอง โดยไม่คิด และไม่มีเจตนารู้ ซึ่งเป็นรู้ที่ว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากความคิด ความปรุงแต่ง ก็เกิดอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หลงยึดถืออยากให้เป็นอย่างนั้นตลอดไป
จึงหลงรักษาจิตให้เป็นรู้ที่ไม่คิด หรือ จิตว่างจากความคิด ความปรุงแต่งไว้
จนกว่าจะมีผู้รู้ชี้แนะ หรือ เกิดธรรมขึ้นมาในใจ เป็นปัญญาวิมุตติ โพลงขึ้นที่ใจ ถึงขนาดทำให้ความหลงยึดถือจิตขาดสะบั้นลงในปัจจุบันทันที
เมื่อความหลงยึดถือจิตหรือใจดับลง (อวิชชาดับ)
จิตดั้งเดิม ใจดั้งเดิม ธาตุรู้ดั้งเดิม หรือ วิญญาณธาตุดั้งเดิม จึงเป็นธาตุบริสุทธิ์ ซึ่งมีชื่อสมมติว่า “นิพพานธาตุ” หรือ “นิพพาน”
***** ดังนั้น จึงไม่มีตัวเรา หรือ จิตของเรานิพพาน แต่เป็นเพราะสิ้นความหลงยึดถือจิตหรือใจว่าเป็นเรา เป็นของ ๆ เรา จึงเป็นจิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์ เรียกว่า “นิพพาน”
จึงมีคำกล่าวว่า “พบใจ พบธรรม ถึงใจ (บริสุทธิ์) ถึงนิพพาน”
ผู้ถาม : กราบขอโอกาสถามเจ้าค่ะหลวงตา ตรงนี้ที่ผู้ปฏิบัติพบ ถ้าไม่หลงยึดรักษา มีสติปัญญารู้ว่า แม้แต่ธรรมชาติรู้ก็ยึดไม่ได้ (ไม่รู้สึกมีตัวเราไปยึดจิตว่าง) ถึงจะเป็นใจที่บริสุทธิ์ใช่ไหมเจ้าคะ
หลวงตา : สาธุ ! ถูกแล้ว ส่วนใหญ่ยึดอยู่ แต่ไม่รู้ตัว (อวิชชา)
ผู้ถาม : ใจมันรู้ของมันเอง ประมาณนั้นเจ้าค่ะ
หลวงตา : “ใจมันรู้ของมันเอง” นี่แหละเป็นจิตเดิมแท้ ที่รู้โดยไม่คิด
ถ้าไม่ยึดถือจิตเดิมแท้เป็นตัวเรา เป็นของ ๆ เรา จะเป็นจิตเดิมแท้บริสุทธิ์ เรียกว่า “นิพพาน”
ผู้ถาม : ไม่ได้คิดว่าจะถึงหรือได้นิพพาน หรืออะไร แต่ปฏิบัติตามที่หลวงตาสอน ฟัง อ่าน แต่กลับเข้าใจง่ายมากบางครั้งเจ้าค่ะ
หลวงตา : สาธุ
ผู้ถาม : น้อมกราบ กราบ กราบ ขอบพระคุณอันสูงยิ่งในความเมตตาเจ้าค่ะ เหมือนใจลึก ๆ มันพูดว่า บัดนี้พร้อมแล้ว จะตายก็ตายเจ้าค่ะ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563