ผู้ถาม : เพิ่งรู้ว่า มันให้ค่าการยึดถือกับการปล่อยวางอีกแล้ว พอปล่อยวางได้สิ่งหนึ่งได้ ก็ไปมีสิ่งที่ยึดถือในสิ่งที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น ว่างขึ้น เบาขึ้นไปเรื่อย ถ้าหลวงตาไม่ทักก็คงจะติดและเนิ่นช้ากว่านี้ แค่นี้มันก็ปรุงแต่งแล้วว่า เมื่อไหร่จะจบซะที กราบขอบพระคุณหลวงตาเจ้าค่ะ
หลวงตา : ไม่มีเราจบ ตัวเราจบ หรือ ตัวเราหลุดพ้น หรือ ใจของเราหลุดพ้นเป็นอันขาด เพราะ ไม่มีตัวเราหรือตัวตนของเรามาตั้งแต่แรก ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต ส่วนที่มีรูปร่างที่สามารถมีความรู้สึก นึก คิด หรืออารมณ์ต่าง ๆ เป็นเพียงสิ่งสมมติชั่วคราว ต้องดับไปหมด ถ้าไม่มีความรู้สึกว่ามี เรา ตัวเรา หรือตัวตนของเราขึ้นมาในใจเลย
ดังนั้น ทุกขณะปัจจุบัน ไม่ว่าจะมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ (เวทนา สัญญา สังขาร) มากระทบ ก็ไม่มีความรู้สึกว่ามี เรา ตัวเราเกิดความอยาก หรือเป็นผู้เสวย หรือไปตู่ยึดถือเอาอารมณ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นของเรา เมื่อทุกขณะปัจจุบันที่มีการกระทบ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้ว ไม่มีความรู้สึกว่ามีตัวเรา หรือตัวตนของเรา ไปเป็นผู้เสวยหรือผู้ยึดมั่นถือมั่น ก็จะไม่มีกิเลส และจะพ้นทุกข์ (นิพพาน)
ดังนั้น "นิพพาน" คือ ความพ้นทุกข์ เพราะสิ้นความหลงว่ามีเรา ตัวเรา หรือตัวตนของเรา เข้าไปเสวยหรือยึดมั่นสิ่งใดที่มากระทบทั้งภายในและภายนอกตลอดเวลา หรือทุกอย่างมีอยู่อย่างที่มันเป็น ขาดแต่สิ่งเดียวเท่านั้น คือ ไม่มีเรา ตัวเรา หรือตัวตนของเราขึ้นมาในใจ แล้วไปยึดถือ เท่านั้นเอง ... เท่านั้นเอง ... เท่านั้นเอง ... ซึ่งสิ่งกระทบภายใน ซึ่งเป็นธรรมารมณ์ ที่จะเกิดตัวตนของเราขึ้นมาในใจ แล้วยึดถือกันไว้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่
"สุขเวทนา" ได้แก่ อารมณ์หรือความรู้สึกที่ถูกใจ เช่น ความรู้สึกโปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่าง
"ทุกขเวทนา" ได้แก่ อารมณ์หรือความรู้สึกที่ไม่ถูกใจ จะเกิดความรู้สึกเป็นเราหรือตัวเราขึ้นมาในใจ แล้วเกิดความไม่พอใจ ไม่ชอบใจเขา
ส่วน "อทุกขมสุขเวทนา" ได้แก่ เมื่อมีการกระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วไม่เกิดอารมณ์หรือความรู้สึกเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนา กรณีนี้จะไม่มีผู้เข้าไปยึดถือหรือยุ่งวุ่นวายกับจิตหรืออาการภายใน เพราะไม่เกิดอารมณ์หรือความรู้สึกที่เป็นสุขหรือทุกข์ แต่จะหลงเพลินใจไปกับสิ่งต่าง ๆ ภายนอก หลงเพลินไปกับการทำงานหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
กรณีสุดท้าย คือ มีความปรารถนาอยากได้ความสุขหรือนิพพานมาให้แก่เรา หรือตัวเรา หรือเรา หรือตัวเราอยากได้ความสุข หรือนิพพาน ตราบใดที่ยังมีความหลง ว่ามีเรา ตัวเรา หรือตัวตนของเราอยู่ในใจหรือในความรู้สึก ก็จะไม่สิ้นตัวเราผู้เสวยหรือผู้ยึดมั่นถือมั่น จึงไม่อาจพ้นทุกข์ (นิพพาน) ได้
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2560