ผู้ถาม : กราบนมัสการค่ะหลวงตา ขอส่งการบ้านค่ะ เมื่อคืนตั้งใจว่าจะพยายามพิจารณากาย ทำได้บ้าง สติหลุดบ้าง เห็นกายนี้เดี๋ยวหิว เดี๋ยวกระหาย เดี๋ยวขับถ่าย วนไปวนมาทั้งวัน ถ้าพิจารณานานกว่านี้คงเกิดปัญญามากกว่านี้นะคะ เช้านี้ไม่ได้สวดมนต์และเดินจงกรมเหมือนเคยเพราะเด็กตื่นเช้า (หรือตื่นสายเอง) พยายามมีสติในแต่ละขณะ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง ช่วงบ่ายมีเสียงมากระทบหู มีเรื่องมากระทบใจ อารมณ์เกิดทันที ใจคิดโต้ตอบทันที แต่พยายามรักษาสติไว้ และนั่งนิ่ง ๆ สักพักอารมณ์หายไป เห็นว่าหายไปในความว่าง สักพักเกิดใหม่ ใจก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ แต่เบาลงกว่าครั้งแรกแล้วหายไปอีก เป็นเช่นนี้ 2-3 ครั้งก็หายไป ตอนนี้คิดถึงเรื่องเดิมก็ไม่โกรธแล้ว หลังจากนั้นเสียงที่เคยทำให้โกรธกลับมาใหม่ คราวนี้พูดเรื่องที่ใจชอบ ดีใจ ชอบฟัง ต้องพยายามมีสติอีกเหมือนกัน ไม่เช่นนั้นใจก็โลดแล่นไปตามอารมณ์ ซึ่งสักพักความยินดีก็จางไป เช่นนี้เองที่เขาว่าสุขทุกข์มีค่าเท่ากัน สุดท้ายก็จางหายไป ไม่สามารถคว้าจับยึดมั่นมาเป็นของเราได้ นึกถึงที่ถามหลวงตาว่าทำอย่างไรจึงจะนำการปฏิบัติธรรมมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ มาถึงตอนนี้ได้รับคำตอบว่าให้มีสติ พยายามมีสติเข้าไว้ อะไรเกิดขึ้นก็ให้รู้ ไม่ต้องเฝ้า ไม่ต้องจ้อง ไม่ต้องเพ่ง เมื่อไหร่ที่มีสติ "รู้" การเกิด "รู้" การดับ เมื่อนั้นย่อมเกิดปัญญา และเมื่อรู้จนเจนใจก็จะปล่อยวางได้ในที่สุดค่ะ ชีวิตที่ผ่านมามีสติเพียงบางช่วง รู้การเกิด แต่ไม่รู้การดับ เพราะไม่อดทนพอ แต่ไปทำอย่างอื่นเพื่อเบี่ยงเบนอารมณ์หรือไม่ก็ทำตามอารมณ์ หรือบางครั้งก็ ไม่รู้การเกิด แต่รู้การดับ หรือสติไม่ทันทั้งการเกิดการดับ เพราะเป็นเช่นนี้เองแม้ปฏิบัติมานานหรือฟังธรรมมานานจึงไม่เคยเกิดปัญญา เพราะจิตไม่เคยรู้แจ้งด้วยตนเอง และเมื่อไม่เคยเกิดปัญญา จึงไม่สามารถปล่อยวางสิ่งใดได้
หลวงตา : สาธุ มีสติรู้เห็นเข้าใจอย่างนั้นถูกแล้ว รู้ตัวว่าเพียรมีสติน้อยไปก็ดีแล้ว ต่อไปเพียรมีสติให้ต่อเนื่อง ... ต่อเนื่อง ... และต่อเนื่อง
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560