ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ มาส่งการบ้านแต่ไม่รู้เข้าใจถูกไหม คือว่าหลังจากนั่งสมาธิ เห็นตัวเองนั่งสมาธิ เลยเข้าใจว่ากายแยกจากจิต พอไปอ่านศึกษาจึงเข้าใจว่า จิต กับใจแยกกัน จิตเป็นที่รับรู้อารมณ์และสั่งสมอารมณ์เป็นสัญญาขันธ์ ส่วนใจเป็น จินตนาการ คือความคิด เป็นสติปัญญา ความสามารถในการคิด ใจคือหนึ่งในหก (เครื่องรับ) แห่งอายตนะภายใน ทำหน้าที่จับธรรมารมณ์หรืออารมณ์นั่นเอง แล้วแปรผลออกมาเป็นรูปอารมณ์ต่าง ๆ ส่งต่อไป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ แสดงว่า การที่เห็นตัวเองนั่งสมาธิ น่าจะเป็นส่วนที่ใจไปรับรู้อารมณ์แล้วแปรผลเป็นสัญญาขันธ์ พอฝึกให้ใจเป็นผู้รู้แทนจิต สมาธิกลับนิ่งและพิจารณาได้นาน ไม่ไปติดกับการเห็น หรือการคิด ซึ่งจิตเป็นผู้ปรุงแต่งไป ปฏิบัติถูกใช่ไหมคะ หรือหนูเข้าใจส่วนไหนผิด ขอหลวงตาช่วยชี้แนะค่ะ
หลวงตา : ถ้ามีความรู้สึก นึก คิด อารมณ์ต่าง ๆ แม้แต่เพียงน้อยหนึ่งนิดหนึ่ง ที่ปรากฏขึ้นมาจากความไม่มีอะไร (ใจหรือธาตุรู้) แล้วมีขึ้นมา เรียกว่าจิตคิดหรือปรุงแต่งทั้งหมด เป็นสิ่งไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป มีแล้วหายไป ไม่อาจยึดถือได้ เมื่อสิ้นอายุขัย จิตที่คิดหรือปรุงแต่งนี้จะดับหมด ส่วนใจหรือจิตเดิมแท้หรือธาตุรู้ จะไม่มีตัวตน ไม่อาจมีความรู้สึก นึก คิด ปรากฏอารมณ์ต่างๆ ได้เลย
ผู้ถาม : กระจ่างขึ้นเยอะค่ะ สงสัยให้รู้ว่าสงสัย เป็นจิตที่คิดขึ้นจะได้ปฏิบัติต่อค่ะ กลัวเข้าใจผิด แล้วสอนต่อผิด ๆ
หลวงตา : สาธุ
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2560