ผู้ถาม : คำว่า ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม ยังมิใช่นิพพาน เพราะยังมีการปรุงแต่ง อดีต ปัจจุบัน อนาคตอยู่ มีเราเป็นผู้มีส่วนได้เสียในธรรมชาติ ดังนั้นจึงต้องพ้นไปจากปัจจุบันเจ้าค่ะ หลวงตาคะ มีความไม่ชัดแจ้ง ไม่เข้าใจตรงย่อหน้าที่ 7 บอกว่า “สำคัญว่าผู้อื่นเป็นปัจจุบัน สำคัญว่าปัจจุบันเป็นผู้อื่นเจ้าค่ะ” และย่อหน้า 8 “เมื่อสำคัญว่าตนมีอยู่ในปัจจุบัน สำคัญว่าปัจจุบันมีอยู่ในตน แล้วจะไม่หลงไปยึดถืออดีต อนาคตว่าเป็นตัวตนเรา” หมายความว่าอย่างไรเจ้าคะ
หลวงตา : หมายความว่า ในปัจจุบัน มีความรู้สึกว่า เราถึง … เราได้ … เราเป็น .... เรารู้แจ้ง .... เราบรรลุ .... เราสำเร็จ .... เราเสร็จกิจแล้ว กิจอื่นนอกจากนี้ไม่มีแล้ว
เมื่อมีเราในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็ต้องมีผู้อื่นในปัจจุบัน ว่าผู้อื่น ยังไม่ถึง ไม่ได้ ไม่เป็น ไม่บรรลุ ไม่สำเร็จ ยังไม่เสร็จกิจ
ยังมีการเปรียบเทียบความรู้ ความเห็น มีทิฏฐิในใจ ว่าเราสูงกว่าเขา หรือ เขาต่ำกว่าเรา หรือ เสมอกันหรือเท่ากัน
มีความดิ้นรนทะยานอยาก มีผู้เสวย หรือ ผู้ยึดถือ ซึ่งเป็นตัณหาอันละเอียดมาก ๆ จนเจ้าตัวก็ยังไม่รู้ตัว
เช่น หลงยึดถือความว่าง หลงยึดถือวิสังขาร หลงยึดถือพระนิพพาน เป็นต้น
จึงยังมีสังโยชน์อันละเอียด ๆๆๆ … ตัวท้าย ๆ หลงเหลืออยู่ คือ ทิฏฐิมานะ ฟุ้งซ่าน และอวิชชา
เมื่อมี “อวิชชา” คือ สำคัญว่ามีตนอยู่ในปัจจุบัน หรือ สำคัญว่าปัจจุบันมีอยู่ในตน ดังกล่าวแล้ว
อดีตก็ไปจากปัจจุบัน อนาคตก็มาเป็นปัจจุบัน เมื่อปัจจุบันยังมีอวิชชาอยู่ อตีตและอนาคต ก็ย่อมมีอวิชชา
ถ้าปัจจุบันสิ้นสังโยชน์ หรือ สิ้นอวิชชาแล้ว
อดีตที่ผ่านไปก็จะสิ้นสังโยชน์ และ อวิชชา
อนาคตก็จะสิ้นสังโยชน์และอวิชชา ด้วย
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561