ผู้ถาม : พระอาจารย์ครับขอโอกาสสรุปเรื่องอยู่กับรู้กายรู้จิต รู้เท่าทันจิตที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาว่าคิดอะไร แต่ไม่สนใจว่าคิดปรุงแต่งเรื่องอะไรอยู่
หลวงตา : ไม่ใช่คิดอะไรแต่ไม่สนใจ ....
“รู้” คือ รู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และ ใจ ตามปกติเหมือนชาวบ้านทั่ว ๆ ไป นั่นแหละ
มีความรู้สึกนึกคิด อารมณ์อย่างใดก็รู้เขาตามปกติธรรมดา
เพียงแต่ว่ารู้ทุกสิ่ง ทั้งความคิด และอารมณ์ ด้วยความรู้สึกตัว หรือ มีสติ สัมปชัญญะ คือ ไม่หลงมีตัวเอง หรือ หลงเอาตัวเองจมติดไปกับสิ่งใดด้วยความรัก ความเพลินใจติดใจยินดี หรือความชัง ทุกปัจจุบันขณะที่มีการกระทบ
จะคิดอะไรก็ต้องตั้งใจคิดด้วยความรู้สึกตัว
ไม่ขาดสติหลงหมกมุ่นจมอยู่ในความคิดที่เป็นกิเลส เป็นความทุกข์ เป็นความกังวล
ส่วนที่สามารถรู้เห็นจิตละเอียดยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆๆๆ … จนถึงกับเห็นอาการของจิตมีความไหว ๆๆๆ … ในความไม่เคลื่อนไหว ได้นั้น ต้องผ่านการฝึกรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังกล่าว
ด้วยความมีสติ สัมปชัญญะ มาอย่างหนักอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
โดยเฉพาะการรู้ธรรมารมณ์ หรือ อาการของจิตทางประตูใจ โดยเฉพาะการรู้อาการของจิตคิด จิตเคลื่อนไหว จนถึงขั้นได้แต่แค่รู้ หรือ สักแต่ว่ารู้ โดยไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือนั้น
ต้องผ่านการฝึกมีสติ สัมปชัญญะ สักแต่ว่า รู้กาย คือ ลมหายใจเคลื่อนไหว พร้อมกับ รู้จิตเคลื่อนไหว มาอย่างหนัก อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
จนถึงขั้นมีความสงบใจในสภาวะจิตตื่น แล้วสักแต่ว่ารู้
“กาย” คือ ลมหายใจเคลื่อนไหว
พร้อม กับรู้ “จิต หรือ อาการของจิตคิดหรือเคลื่อนไหว”
ตั้งแต่ทั้งกาย คือ ลมหายใจเข้าออก และ จิตเคลื่อนไหวหยาบ ปานกลาง ละเอียด ๆๆๆ .. ขึ้นไปเรื่อย ๆๆๆ … โดยไม่มีตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่น ก็จะเห็นจิตเคลื่อนไหว ในความไม่เคลื่อนไหว
เมื่อสิ้นตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่มีผู้ทุกข์
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561