ผู้ถาม 1 : กราบนมัสการหลวงตาด้วยความเคารพอย่างสูง เมื่อเช้าโยมได้อ่านธรรมะที่หลวงตาส่งมาเรื่องหลวงปู่มั่นอธิบายปฏิจจสมุปบาท เกิดความสงสัยและยังไม่เข้าใจในส่วนที่หลวงปู่มั่นท่านอธิบายไว้ว่า
… "สังขาร วิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขารวิบาก วิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว" … "ส่วนสังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชชานั้น เรียกว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรมนั้นเป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่"
โยมยังไม่เข้าใจคำว่า
"1. การปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว … และ 2. การปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่" เจ้าค่ะ คิดว่าหากเข้าใจในคำ 2 ประโยคนี้ได้ คงจะช่วยให้เข้าใจในอะไร ๆ ตามมาอีกมากเจ้าค่ะ จึงอยากขอความเมตตาจากหลวงตาได้โปรดอธิบายขยายความพร้อมยกตัวอย่าง เพื่อให้เกิดความกระจ่างแก่ศิษย์ผู้โง่เขลาคนนี้ด้วยเจ้าค่ะ
จำได้ว่าเคยฟังไฟล์เสียงของหลวงตานานมาแล้ว เหมือนหลวงตาก็เคยกล่าวไว้เช่นกันว่า … สังขาร (การปรุงแต่ง) ในนามรูปเป็นคนละตัวกับสังขารในวงจรปฏิจจสมุปบาทใช่ไหมเจ้าคะ … สังขารในนามรูปคือการปรุงแต่ง สังขารในวงจรปฏิจจสมุปบาทเป็นตัวทำให้เกิดภพ ... ตอนนั้นโยมฟังแล้วก็ได้แต่จำไว้ค่ะ อันนี้โยมเข้าใจถูกหรือเปล่าคะหรือโยมจะเข้าใจผิด/ จำผิดประการใด ขอหลวงตาได้โปรดชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่มีตาภายในคือกระแสจิต กระแสธรรม ที่จะเข้าไปรู้จริงได้ แต่ก็อยากที่จะขอศึกษาเป็นแนวทางไว้เจ้าค่ะ หากเป็นการถามที่ไม่สมควรหรือเข้าใจสิ่งใดผิดพลาดไป โยมกราบขอขมาและขออโหสิกรรมต่อองค์หลวงตาด้วยนะเจ้าคะ และขอให้โยมมีส่วนแห่งธรรมที่หลวงตาได้บรรลุแล้วนั้นด้วยเทอญ สาธุ
ผู้ถาม 2 : “ปฏิจจสมุปบาท ข้อที่ว่าวิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร สังขารเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูปนั้นแล ในนามรูปก็มีทั้งวิญญาณและสังขาร ซึ่งมันจะมีการแตกต่างกันดังนี้ คือ สังขาร วิญญาณ ที่ต่อจากอวิชชานั้น เรียกว่าสังขารกรรม วิญญาณกรรม แตกต่างกับสังขาร วิญญาณของนามรูป สังขาร วิญญาณของนามรูปนั้น เป็นสังขาร วิญญาณวิบาก เนื่องจากเป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นการปรุงแต่งที่กำลังทำอยู่ คือว่า สังขารกรรม วิญญาณกรรม เป็นภาวะที่ไม่เป็นอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของกรรม มี (อวิชชา) เป็นหางเรือใหญ่ อาศัยสังขารการปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึกในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะเป็นแนวทางแห่งการก่อให้เกิด ซึ่งในขณะนั้นจิตเป็นประธาน อาศัยสังขารปรุงแต่ง อาศัยวิญญาณความรู้สึก ในขณะที่กำลังปรุงภพ อันจะต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของสังขารกรรม วิญญาณกรรม ทั้ง 2 นั้นสืบเนื่องมาจากจิต ณ ที่นี้จึงแล้วแต่กรรมจะจำแนกไป คือให้สังขารและวิญญาณนี้เห็นดีไป เมื่อเห็นดีไปอย่างไร จิตก็จะไปตั้งก่อให้เกิดไปตามนั้น เพราะที่นี้จึงเป็นสถานที่กำลังปรุงแต่งภพ”
กราบหลวงตา จากข้อความข้างบน การพิจารณาที่เราพิจารณาว่า "พฤติแห่งจิต กริยาจิต เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติของจิต" นั้นเป็น การพิจารณาตัว วิญญาณกรรม กับ ตัวสังขารกรรม ใช่ไหมเจ้าคะ
หลวงตา : “สังขารกรรม” และ “วิญญาณกรรม” ใน “ปฏิจจสมุปบาท” เกิดจาก “อวิชชา” คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงเกิดสังขารกรรม เพราะสังขารกรรมเป็นปัจจัย จึงเกิดวิญญาณกรรม คือ เกิดวิญญาณเป็นตัวตนขึ้นมาในความรู้สึก มารับผลกรรมจากสังขารกรรม
คือ เมื่อมี “อวิชชา” ก็จะคิด พูด กระทำไปตามกิเลส คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่หลงยึดถือในปัจจุบันขณะ เป็นเหตุให้ “เกิดวิญญาณกรรม” ก่อภพ ชาติ และความทุกข์ขึ้นในใจตามกรรมที่คิด พูด กระทำในปัจจุบันขณะ แล้วแต่ว่าการคิด การพูด การกระทำในปัจจุบันขณะนั้นเป็นไปตามความหลงยึดถือให้เกิดกิเลสเช่นใด ย่อมส่งผลกรรมเช่นนั้น เช่น
ถ้าเป็นราคะหรือความโลภ ก็จะเกิดวิญญาณกรรมสร้างภพชาติเป็นเปรต หรืออสุรกาย
ถ้าเป็นความโกรธแค้นพยาบาทฝังติดแน่นในจิต ก็จะเกิดวิญญาณกรรมสร้างภพชาติเป็นสัตว์นรก
ถ้าเป็นโมหะ หลงเพลิดเพลินใจติดไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สิ่งที่มาสัมผัส ก็จะเกิดวิญญาณกรรมสร้างภพชาติเป็นสัตว์เดรัจฉาน
ถ้าหลงยึดถือในความดี จิตมีความอิ่มเอิบในทาน ศีล ภาวนา ก็จะเกิดวิญญาณกรรมเป็นเทวดา
เป็นต้น
และเมื่อหลงยึดถือจนเป็นความเคยชินเคยตัวเคยใจ ก็จะมีการคิด พูด กระทำไปตามความหลงยึดถือ คือ อวิชชา ตัณหา อุปาทานนั้นจนเป็นนิสัย สันดาน ส่งผลให้วิญญาณกรรมต้องเกิดมารับผลกรรม และความทุกข์ในปัจจุบันขณะอยู่เป็นประจำ
ความเคยชินเคยตัวเคยใจ ซึ่งเป็นนิสัยและสันดานนั้น จะมีผลเมื่อถึงแก่ความตาย เมื่อยังไม่สิ้น “อวิชชา” คือ วิญญาณกรรมก็มีโอกาสอย่างมาก ที่จะต้องไปเกิดรับผลกรรมในภพชาติอย่างที่สร้างไว้ในใจจนเป็นความเคยตัวเคยใจนั้น
ส่วน สังขารและวิญญาณในขันธ์ห้า หรือ นามรูป ได้เกิดขึ้นมาเพราะมี “อวิชชา” เป็นปัจจัย จึงทำให้เกิด สังขารกรรม เพราะ สังขารกรรมเป็นปัจจัย จึงเกิดนามรูป หรือ ขันธ์ห้า ซึ่งในขันธ์ห้า ก็มีสังขาร และ วิญญาณ จึงเรียกว่า สังขารวิบาก และวิญญาณวิบาก เป็นการปรุงแต่งที่สำเร็จรูปแล้ว อันเกิดมาจากกรรมเก่า
ซึ่งถ้าไม่มี “อวิชชา” ปนอยู่ในสังขารวิบาก และวิญญาณวิบากในขันธ์ห้า
ก็จะไม่ก่อให้เกิดสังขารกรรม และ วิญญาณกรรม และจะไม่ก่อให้เกิดภพ ชาติ … และความทุกข์
ดังเช่น ขันธ์ห้าของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ พระองค์สิ้นอวิชชาแล้ว แต่ขันธ์ห้ายังไม่ดับ สังขารวิบาก และวิญญาณวิบากยังทำงานตามปกติ คือ ยังมีการรับรู้ และการคิด การพูด การกระทำตามปกติ แต่จะไม่ก่อให้เกิดสังขารกรรม และ วิญญาณกรรม ที่ส่งผลให้เกิดภพ ชาติ .. และความทุกข์ ที่ต้องรับผลกรรมจากการคิด การพูด การกระทำในปัจจุบันขณะ และหลังจากธาตุขันธ์แตกดับ (ตาย) แล้ว
สังขารวิบาก และ วิญญาณวิบากในขันธ์ห้า เป็นพฤติแห่งจิต กิริยาจิต เป็นเพียงปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับไปเป็นธรรมดา เหมือนฟ้าผ่า ไม่ว่าจะผ่าแรง ผ่าค่อย ก็ต้องดับไปเป็นธรรมดา
เขาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ถ้าไม่มี สติ ปัญญา รู้เท่าทัน และเห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้น
แต่หลงมีตัวตน มีตัวเราเข้าไปยึดถือเป็นเจ้าของปรากฏการณ์ตามธรรมชาตินั้น ก็เหมือนมีตัวตนของเราไปขวางทางฟ้าผ่า ย่อมทำให้เกิดเป็นทุกข์เดือดร้อน อาจถึงตายได้
จึงต้องมีสติ สมาธิ ปัญญา รู้เท่าทัน “สังขาร” ซึ่ง สังขารมีสาม คือ กายสังขาร วาจาสังขาร และ จิตตสังขาร
ซึ่งกายสังขาร ก็เคลื่อนไหว ทำอะไรไปตามจิตตสังขาร คือ “จิต” ที่คิดปรุงแต่งในปัจจุบันขณะนั้น
วาจาสังขาร ซึ่งจะพูดอะไร ก็เป็นไปตามจิตตสังขาร คือ “จิต” ที่คิดปรุงแต่งในปัจจุบันขณะนั้น
ดังนั้น ถ้ารู้เท่าทัน จิตตสังขาร ซึ่งเป็นสังขารวิบากในขันธ์ห้า หรือ “จิต” ที่คิด หรือ ปรุงแต่งในทุกปัจจุบันขณะ และไม่หลงไปเป็นจิตที่คิด หรือ ปรุงแต่งในปัจจุบันขณะนั้น โดยแค่สักแต่ว่ารู้ “จิต” ที่คิดหรือปรุงแต่งก็พอแล้ว
เพราะเมื่อสักแต่ว่ารู้ “จิตตสังขาร” ในทุกปัจจุบันขณะ โดยไม่หลงเป็นจิตนั้น ก็จะพ้นจากสังขาร เพราะเมื่อไม่หลงไปเป็นจิตตสังขารที่คิด หรือ ปรุงได้แล้ว ก็ไม่อาจหลงเอาจิตตสังขาร มาคิด หรือ ปรุงแต่งเป็นตัวตน เป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา แล้วหลงเอาตัวเราที่ปรุงแต่งนั้นไปหลงยึดถือสิ่งที่ถูกรู้ หรือ อารมณ์ที่ถูกรู้ ทั้งจะไม่หลงเอาจิตตสังขาร มาหลงคิดปรุงแต่งยึดถือ “ผู้รู้” ว่าตัวเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นตัวเรา คงเป็นแค่สักแต่ว่าธรรมชาติของธาตุรู้ ซึ่งไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีอะไรปรากฏ เขาเป็นผู้รู้
เมื่อสิ้นหลงคิดปรุงแต่งยึดถือเป็นตัวตน เป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา จึงสิ้น “อวิชชา” เมื่อ อวิชชาดับ สังขารกรรมก็ดับ วิญญาณกรรมก็ดับ
หลังจากนั้น จะไม่มีอวิชชาผสมหรือปนอยู่ในการคิด การพูด การกระทำ
คงมีแต่สังขารวิบาก และวิญญาณวิบากในขันธ์ห้า จนกว่าจะสิ้นอายุขัย หรือ ขันธ์ห้าดับ จึงสิ้นสังขารวิบาก และวิญญาณวิบาก
ยึดมาก ทุกข์มาก
ยึดน้อย ทุกข์น้อย
สิ้นยึด พ้นทุกข์ (นิพพาน)
ดังนั้น เมื่ออวิชชาดับ สังขารกรรม และ วิญญาณกรรมก็จะดับ ..... ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ .. และความทุกข์จึงดับพร้อม จึงเป็น “สอุปาทิเสสนิพพาน” ครั้งหนึ่งก่อน
ครั้นธาตุแตกขันธ์ดับ (ตาย) ทั้งสังขารวิบาก วิญญาณวิบากในขันธ์ห้าและสังขารกรรม วิญญาณกรรมในปฏิจจสมุปบาทจะดับทั้งหมด จึงเป็น “อนุปาทิเสสนิพพาน” อีกครั้งหนึ่ง คือ ความทุกข์ที่เกิดจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ดับไปตอนสอุปาทิเสสนิพพาน แต่คงเหลือความทุกข์ที่เป็นทุกขสัจจ์ คือ ความแก่ เจ็บ ตาย เพราะเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ดังนั้น “อนุปาทิเสสนิพพาน” จึงเป็นการดับทั้งความทุกข์ทางใจ และดับความทุกข์ที่เป็นทุกขสัจจ์
ก็คือ “สังขารวิบากและวิญญาณวิบาก” เป็นผลมาจาก .... “กรรมเดิม” คือการหลงยึดจิตปัจจุบันขณะ “สังขารกรรมและวิญญาณกรรม” แล้วก่อเป็นภพ ชาติ รูป นามขึ้นมาคือ มี “สังขารวิบากและกรรมวิบาก” อยู่ในนาม รูป เพื่อรับกรรมนั้น ถ้าหากยังไม่สิ้นอวิชชาในปัจจุบันขณะ ก็ยังคงก่อให้เกิดเป็น “สังขารกรรมและวิญญาณกรรม” สร้างภพ ชาติใหม่ต่อไป แต่เมื่อสิ้นอวิชชาแล้ว “ก็ไม่มีสังขารกรรมหรือวิญญาณกรรม” หรือ ที่เรียกว่า “จิตทิพย์หรือกายทิพย์” อันจะไปก่อภพ ก่อชาติได้อีก คงเหลือแค่ “สังขารวิบากและกรรมวิบาก” อันเกิดจากการกระทำในครั้งก่อน ๆ ที่ยังดำรงอยู่จนกว่าจะถึงเวลาแตกดับ เมื่อสิ้นอายุขัย ก็แค่แตกดับสลายไปสู่ธาตุธรรมชาติดังเดิม ..
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2561