ผู้ถาม : กราบนมัสการเจ้าค่ะองค์หลวงตา ก่อนหน้านี้มันเกิดคำถามขึ้นกับใจว่าเมื่อเป็นใจแล้วทำไมจึงไม่นิพพาน..? ก่อนหน้านี้ปล่อยวางสังขารที่เคลื่อนไหวได้ ปรากฏได้และเป็นใจที่ไม่สังขาร แต่......มันลืมไปเจ้าค่ะ มันมีไอ้ใบ้ตัวหนึ่งที่ไม่ทุกข์อะไร แต่ความไม่ทุกข์ของมันปรากฏเป็นความผ่องใสให้ถูกรู้ได้ มันลืมตัวมันเองจริงๆ ว่ามันเป็นสังขาร แล้วก็ลืมว่ามีบางสิ่งมารู้และเห็นไอ้ใบ้มันเช่นกัน คำตอบจึงรู้ว่า เพราะมันไม่รู้รอบกองของสังขารนี่เองเจ้าค่ะมันยังไม่รอบ มันจึงยังจบไม่ลง ไม่ยึดสังขารโลก แต่ยึดสังขารธรรม มันมีประโยคที่องค์หลวงตาสอนในไฟล์เสียงที่ทำให้ไอ้ใบ้มันสะเทือนเจ้าค่ะ คือประโยคนี้เจ้าค่ะ "ธรรมย่อมเป็นธรรม ก็คือ เป็นธรรมชาติ โดยสมบูรณ์ของเขาเอง เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ของเขาเอง ไม่มีใครไปแสดงตู่เอาเป็นเจ้าของ...ให้แปดเปื้อนมลทิน" ประโยคนี้เหมือนสอนใจตัวเองให้ย้อนกลับมานึกได้เจ้าค่ะ มีสิ่งใดเห็นผิดจากความจริง ขอเมตตาองค์หลวงตาชี้แนะด้วยเจ้าค่ะ กราบองค์หลวงตาเจ้าค่ะ
หลวงตา : การปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้จิตได้เรียนรู้ความจริงอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายว่า ขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นเพียงสังขาร หรือ สิ่งปรุงแต่ง ขึ้นมาจาก ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุรู้ ซึ่งธาตุดินก็เริ่มต้นมาจากสเปิร์มของพ่อ ส่วนไข่ของแม่เป็นธาตุน้ำ แล้วแม่ก็กินธาตุดิน คือซากพืชซากสัตว์ ซึ่งเป็นของตายแล้ว ซึ่งต้องเป็นของจะต้องเน่า แม้กินเข้าไปในท้องก็ยังต้องเน่า ถ่ายอุจจาระ ออกมาจึงเน่าเหม็นมาก กินธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟเติมเข้าไปตลอดเวลา ขันธ์ห้าจึงไม่ใช่ตัวตนของเราจริงๆ ต้องหมั่นน้อมพิจารณาให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ใจก็จะค่อยๆ เชื่อตามความเป็นจริงที่น้อมพิจารณา แล้วใจเขาก็ค่อยๆ ปล่อยวางของเขาเอง ต้องน้อมถึงสัจธรรมความจริงเช่นนี้ จนกว่าใจจะเชื่อในความจริง หรือ สิ้นหลง (อวิชชา) จนหมดใจ ไม่ยึดถือทั้งร่างกาย (รูป) และนาม คือ เวทนา สัญญา สังขาร ซึ่งเป็นธรรมารมณ์ หรืออารมณ์ที่ถูกรู้ และ วิญญาณ คือ ผู้รู้
จะเห็นได้ว่าต้องปล่อยวางแม้ “ผู้รู้” มิฉะนั้นปล่อยวางไม่หมดทั้งห้าขันธ์ จึงจะสิ้นหลงมีตัวตนของผู้เสวยหรือผู้ยึดมั่นถือมั่น หรือมีเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา หรือ ของของเรา คือ สิ้น “อวิชชา” นั่นเอง เมื่อสิ้นอวิชชา ก็สิ้นตัณหา อุปาทาน ซึ่งเป็น กิเลส อันเป็นปัจจัยให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ และทุกข์ โศก เศร้า เสียใจ คับแค้นใจ เมื่อสิ้นเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เกิดภพ ชาติ ชรามรณะ และความทุกข์ หรือ เหตุปัจจัยดับหมด เรียกว่า สิ้นเชื้อที่จะเป็นเหตุเกิด ผลทั้งหมดก็ดับพร้อม
หรือเหตุเกิด ผลเกิด เหตุดับ ผลดับ หรือ เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี สิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี (ปฏิจจสมุปบาท) ดังนั้น เมื่อสิ้นเชื้อที่จะเป็นเหตุให้จิตหรือวิญญาณมีตัวตนไปเกิดให้เป็นทุกข์ แล้วครั้น สิ้นอายุขัย ธาตุแตกขันธ์ดับ จิตหรือวิญญาณก็ดับไปเหมือนไฟที่สิ้นเชื้อ
ข้อควรสังวร ;การปฏิบัติธรรมก็เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งหรือตรัสรู้ขึ้นมาว่า ตัวตนจริงๆ ของเราไม่มี มีแต่เกิดดับ เป็นสิ่งสมมติ หรือเป็นมายา หลอกลวงให้ลุ่มหลง เมื่อน้อมพิจารณาเห็นความจริงจนปล่อยวางความหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา ก็จะสิ้นตัวตนของเราไปยึดมั่นถือมั่นมาเป็นของของเรา
ดังนั้น ถ้าปฏิบัติธรรม แต่มีเราหรือตัวเราจะไปเอา ไปได้ ไปเป็นอะไร หรือ มีเรา ตัวเราเสพความว่าง โล่ง โปร่ง เบา สบาย จะผิดทางของพระพุทธเจ้า
เพียรวางให้หมด ทั้งความคิดหรือ อารมณ์ที่ถูกรู้ และ “ผู้รู้” รวมทั้งสติ สมาธิ ปัญญา ซึ่งเป็นสังขารปรุงแต่ง โดยเห็นว่าเป็นเพียงเครื่องอาศัยใช้เป็นเรือข้ามฟากเท่านั้น ไม่หลงยึดถือ ว่าเราเป็นผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เข้าใจ ผู้มีความสงบ ผู้ว่างเปล่า ผู้รู้แจ้ง หรือ ผู้รู้ ผู้เห็น ผู้เข้าใจ ผู้มีความสงบ ผู้ว่างเปล่า ผู้รู้แจ้ง ผู้เพียรพยายามว่าเป็นเรา หรือ เป็นตัวเรา
ผู้ถาม : คืนความว่างให้แก่ความว่างไป แต่ก็ยังเห็นสังขารที่พยายามปรุงเข้าไปพยายามคลอเคลียความว่างนั้น แล้วปล่อยมันไปทุกขณะเจ้าค่ะ โดยรู้ว่ามันคือสังขารเจ้าค่ะ
หลวงตา : เข้าถึงความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ เงียบ สงบ สงัด ว่างเปล่า ไร้ตัวตน ไร้การปรุงแต่งใดๆ ไม่มีความคิดหรือความรู้สึกว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา หรือ เป็นของของเราปนอยู่แม้แต่น้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง หรือสักปรมาณูหนึ่งก็ไม่มีมันเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์จริงๆ
ผู้ถาม : มันคือกระจกที่แตกออกรวมกับจักรวาลใช่ไหมคะ เหมือนโลกธาตุดับค่ะหลวงตา โยมทราบแต่สิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนที่เป็นแก่นคือ ปล่อยวางค่ะ นิพพานก็ไม่มี มีแต่ปล่อยวาง
หลวงตา : สาธุ ถูกต้องแล้ว มันรวมกับจักรวาล โลกธาตุดับสนิท ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ไม่มีสมมติ ไม่มีวิมุติ ไม่มีอวิชชา ไม่มีวิชชา มันคือธรรมชาติที่บริสุทธิ์จริงๆ ...เพราะ ไร้มลทินจากการที่มีผู้ไปตู่เอาธรรมชาติมาเป็นของเรา
ปุจฉาวิสัชนาธรรมเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2561