ผู้ถาม : ขอน้อมกราบนมัสการเจ้าค่ะหลวงตา ลูกฟังธรรมของหลวงตาทั้งเช้าเย็น เดินประมาณ 1ชั่วโมง บางทีก็นั่ง 1 ชั่วโมงเจ้าค่ะ ไม่รู้จะถามหลวงตาอย่างไรกับสภาวธรรมของลูกเจ้าค่ะ
มันรู้ เห็นกาย กับจิตมันแนบกัน บางทีเห็นกายไม่ใช่เรา เวลากินข้าวบางครั้งเหมือนหุ่นยนต์เจ้าค่ะ
หลวงตา : นั่นแหละ
ให้ปล่อยวางตัวเรา คือร่างกายและจิตที่รู้สึกนึกคิดตรึกตรองปรุงแต่งหรือปรากฏอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้รู้เห็นได้ในทุกปัจจุบันขณะไปเสียให้หมดตลอดเวลา
ให้เป็น “ใจ” ที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีตัวตน ไม่อาจคิด ปรุงแต่ง หรือแสดงอาการใด ๆ ได้เลย จึงไม่มีอาการหรือปรากฏการเกิดดับ มันเป็นเหมือนความว่างของธรรมชาติหรือจักรวาล
แต่มันแตกต่างจากความว่างของธรรมชาติ ตรงที่มันไม่มีอะไรปรากฏ แต่มันมีความรู้อยู่ในตัวมันเอง เหมือนดั่งพระอาทิตย์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง โดยมันรู้ว่ามันไม่มีอะไรปรากฏเลย และรู้ว่าอะไรที่
ปรากฏหรือคิด ปรุงแต่ง เกิดดับได้ ไม่ใช่มัน
มันไม่ใช่จิตปรุงแต่งแสดงพฤติกรรมมีเจตนา จงใจ ตั้งใจ หรือพยายามดูจิตหรืออาการของจิตในปัจจุบันขณะ และมันไม่ใช่ ความรู้สึกว่าเรารู้เห็นเข้าใจและพอใจหรือไม่พอใจในสภาวธรรมใด ในผล
ของการปฏิบัติ เช่น เมื่อรู้เห็นเข้าใจ ปล่อยวางได้ ก็มีความรู้สึกว่าใจเบากายเบา มีอาการปีติ โปร่ง โล่ง เบา สบาย จนมีความรู้สึกว่างไปหมด เพราะนั่นเป็น “สังขาร” ปรุงแต่ง เกิดดับได้ทั้งนั้น
“ใจ” ไม่อาจมีความสุข ทุกข์ ผ่องใส เศร้าหมอง เพราะอาการเหล่านั้นเป็น เวทนาขันธ์ เป็นธรรมารมณ์ เป็นอายตนะภายนอก ซึ่งเป็น “สังขาร” ปรุงแต่ง
ส่วน “ใจ” เป็น “วิสังขาร”
“ใจ” มีความรู้ในตัวเอง มันไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใด เหมือนดั่งพระอาทิตย์ที่มันมีแสงสว่างในตัวมันเอง ไม่ต้องพึ่งพาแสงสว่างจากที่ใด ไม่เหมือนกับพระจันทร์ที่ต้องรับแสงสว่างจากพระอาทิตย์ จึงไม่ต้อง
พยายามหลงเอา “ใจ” ไปอยู่หรือฝากไว้กับอะไร ไม่อาจจะเอาตัวเราที่เป็นขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ไปยึดถือ “ใจ” ได้ เพราะมันไม่มีอะไรให้ยึดถือ และไม่อาจจะรับรู้ได้ทาง
อายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ทุกปัจจุบันขณะ ต้องไม่ยึดถือ “สังขาร” ทั้งรูปและนาม และไม่หลงยึดถือใจด้วย จึงจะพบ “ใจ” หรือ พบ “ธรรม” คือ ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ ไม่อาจถูกทำลายได้ เป็นอสังขตธาตุ
แล้วถึงใจ เป็นใจ “ที่มีความรู้” หรือ อยู่กับ “รู้” หรือ อยู่กับ “ผู้รู้” ว่าทุกปัจจุบันขณะสิ้นผู้ยึดถือ หรือสิ้นผู้เสวย เพราะเป็น “ใจ” ที่ไม่มีอะไรเลย ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขาในนั้น อยู่กับใจ กินกับ
ใจ นอนกับใจ ไปไหนก็ไปกับใจ และตายไปกับใจที่เป็นธรรม ที่ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่ตาย หรือ อยู่กับ “รู้” ว่าอยู่กับธรรม กินกับธรรมนอนกับธรรม ไปไหนก็ไปกับธรรม ตายไปกับธรรม(ธาตุขันธ์
แตกดับ) “ส่วนใจ” ซึ่งเป็นธาตุรู้หรือธรรมธาตุแล้ว ก็กลืนหายไปในความว่างเปล่าของธรรมชาติของจักรวาล หรือเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอย่างเป็นอมตะนิรันดร์
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561