ผู้ถาม : กราบขอโอกาสเจ้าค่ะหลวงตา
วันนี้ตอนอธิบายให้ญาติโยมฟัง ความเข้าใจในจิตยังเป็นความมีที่มีตัวเราอยู่จริง เลยต้องไปทำอะไร ยังคงเป็นความเห็นผิดอยู่เจ้าคะ
จนมาส่องกาละมังพี่มุ้ย เหมือนธรรมมาสอน ความมีไม่เคยมีอยู่จริง ถึงจะพยายามปั้นความมีขึ้นมายังไงก็ไม่สามารถปั้นได้ แต่เราคิดว่ามันปั้นได้ ที่จริงสิ่งที่ปั้นขึ้นมาได้เป็นแค่ภาพลวงตา ความมีไม่เคยมีอยู่จริง ความมีเกิดจากความไม่มี แล้วความมีจะมีอยู่จริงได้ยังไง
น้อมกราบแทบเท้าองค์หลวงตาที่เมตตาเจ้าค่ะ เลยได้รู้ว่ายังมีความเห็นผิดอยู่กับการที่ได้พูดออกมาเจ้าค่ะ
กราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
หลวงตา :
***** “พุทธศาสนา” เป็นการถ่ายทอดพระสัจธรรมออกมาจากใจ ที่เป็นประสบการณ์ตรง
สอนเขาอย่างไร ก็จะสะท้อนกลับมาที่ใจของเราอย่างนั้น
สอนเขาว่า….. “สัจธรรม” คือ ความจริงแท้ของธรรมชาติ ไม่มีตัวตนของเรา ไม่มีดวงจิต ดวงใจ ดวงวิญญาณ หรือ ผู้รู้ ที่เป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเราอยู่จริง เป็นเพียงความหลงเข้าใจผิด หรือ ความเห็นผิดจากสัจธรรม (มิจฉาทิฏฐิ) เท่านั้น
เมื่อเห็นแล้วว่าเป็นความเห็นผิดไปจากสัจธรรม ก็เปลี่ยนความเห็นใหม่ให้เป็น “สัมมาทิฏฐิ” ในอริยมรรคมีองค์แปด ก็จะมีความเห็นตรงตามสัจธรรม ว่าธรรมชาติจริงแท้ไม่เคยมีตัวตนที่คงที่ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา มีเพียง “สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา” ดังนั้น จึงไม่มี “อัตตา” ที่จะต้องทำลาย
เมื่อรู้จริง เห็นจริง เป็นจริงที่ใจ ใจแท้ตามธรรมชาติก็เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมแท้ตามธรรมชาติ ไม่แยกว่า “ใจ” ไม่แยกว่า “ธรรม” รวมเรียกว่า “ธรรมธาตุ” หรือ “นิพพาน”
แล้วถ่ายทอดธรรมแท้ออกมาจากใจแท้ที่บริสุทธิ์ เป็นการถ่ายทอดธรรมจากจิตหนึ่ง (พุทธะ) ไปสู่จิตหนึ่ง (พุทธะ) เพื่อดับอวิชชา ซึ่งเปรียบเหมือนความมืดบอดที่มาบังใจแท้ ทำให้มีความเห็นผิดไปจากสัจธรรม
ความมืดบอดที่มาปิดบังใจแท้หมดไป เพราะแสงสว่างแห่งปัญญาพุทธะจากพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ เป็นเมตตาอัปปมัญญาบริสุทธิ์จากภายนอก ประสานเป็นหนึ่งเดียวกับปัญญาพุทธะภายในจากจิตเดิมแท้หรือใจเดิมแท้ ที่มีพละห้า อินทรีย์ห้า ได้แก่ ศรัทธา ความเพียร สติ สมาธิ ปัญญา
อิทธิบาทสี่ ได้แก่ ฉันทะ (มีใจรักในนิพพาน) ความเพียร จิตตะ (เอาใจฝักใฝ่) วิมังสา (หมั่นวิเคราะห์ในเหตุและผลของอริยสัจสี่ จนรู้แจ้งในเหตุและผลว่า “ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ เมื่อเหตุเกิด ผลเกิด เมื่อเหตุดับ ผลดับ) มีหิริ โอตตัปปะ มีขันติ และ สำรวมอินทรีย์
แล้วทำลายความเห็นผิด (อวิชชา,มิจฉาทิฏฐิ) ซึ่งเปรียบเหมือนความมืดบอดที่มาปิดบังจิตเดิมแท้หรือใจเดิมแท้ให้หมดสิ้นไป จนเป็นจิตเดิมแท้ หรือ ใจเดิมแท้ หรือ ธาตุรู้เดิมแท้บริสุทธิ์ เรียกว่า “นิพพาน”
ผู้ถาม : น้อมกราบแทบเท้าพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตาที่เมตตาอบรมสั่งสอนให้ได้รู้ เห็น จนแจ้งที่ใจในสัจธรรมความจริงแท้
น้อมกราบ กราบ กราบ เจ้าค่ะ
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565