ผู้ถาม : หลวงตาเจ้าคะ พอทุกสิ่งภายในเปลี่ยน ระบบของร่างกายมันจะเปลี่ยนไปด้วยใช่ไหมเจ้าคะ
สังเกตว่าผิวหนังต่าง ๆ จากเดิมที่เป็นรอยย่น มันกลับเรียบเนียน ตึงอย่างกับผิวเด็กเลยเจ้าค่ะ
เวลาที่ไม่ได้ไปกับความคิดฟุ้งซ่าน มันเหมือนไม่ได้คิดอะไร เหมือนมันไม่ได้ต้องการใช้พลังงานอะไร มันเลยไม่หิว และไม่อยากอาหารเลย
แต่พอถึงมื้อ ยังต้องกินอาหารตามปกติ มันเลยทรมานธาตุขันธ์จริง ๆ เจ้าค่ะ ทั้งแน่น อึดอัด จนไปทำพลังลมปราณ เรอออกมาชุดใหญ่ ค่อยดีขึ้นเจ้าค่ะ
หลวงตา : เป็นจริงอย่างนั้น
จิตผู้คิดตรึกตรองปรุงแต่ง (สังขารธรรม) ก็ยังคิดปรุงแต่งอยู่เป็นปกติธรรมดา ส่วนธรรมชาติรู้ก็ได้แต่รู้ โดยไม่มีตัวตนของผู้รู้
ธรรมชาติรู้ หรือ ธาตุรู้ตามธรรมชาติไม่สามารถคิด ตรึกตรอง ปรุงแต่งได้ หรือ
***** “รู้” ไม่ใช่คิด ส่วนจิตผู้คิด ตรึก ตรอง ปรุงแต่งก็ไม่ใช่ “รู้”
***** ถ้าผู้รู้สามารถคิด ตรึกตรอง ปรุงแต่งได้ เขาเป็นจิตปรุงแต่ง ไม่ได้เป็นธรรมชาติรู้ เพราะธาตุรู้ตามธรรมชาติไม่อาจคิด ตรึกตรอง ปรุงแต่งได้ หรือ ไม่สามารถปรากฏกิริยา หรือ อาการใด ๆ ได้เลย เขาเป็นธรรมชาติที่เป็น “วิสังขาร” หรือ “อสังขตธาตุ” หรือ “อสังขตธรรม” จะไม่ปรากฏการเกิดดับ และ ไม่ขึ้นกับเหตุปัจจัยปรุงแต่ง
***** ถ้าเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติ …..
จะไม่หลงว่าตัวเราเป็นผู้คิด หรือ ไม่หลงคิด
ไม่หลงว่าผู้คิดเป็นเรา หรือ เป็นตัวเรา
ไม่หลงว่าจิตของเราเป็นผู้คิด
***** คิดก็ส่วนคิด (สังขารธรรม หรือ สังขตธรรม) ส่วน “รู้” ก็ได้แต่รู้ (วิสังขารธรรม หรือ อสังขตธรรม) ไม่อาจปะปนกันได้โดยเด็ดขาด เพราะเป็นธรรมชาติคนละประเภท
เมื่อไม่มีผู้ยึดถือทั้งคิด (สังขตธรรม) และ รู้ (อสังขตธรรม) ก็จะเป็น “วิราคธรรม” “วิมุตติธรรม” “นิพพานธรรม (พ้นทุกข์)”
***** ดังนั้น วิราคธรรม(สิ้นความกำหนัดยินดี หรือ ใจหมดยางเหนียว) จึงไม่ใช่ทั้งสังขตธรรม และ อสังขตธรรม แต่เป็นธรรมที่พ้นไปจากทั้งสองนั้น หรือ *****นิพพาน ไม่ใช่ผู้รู้ นิพพานเหนือผู้รู้ขึ้นไปจนไม่มีที่หมาย
***** กรณีไม่หลงคิดตรึกตรองปรุงแต่ง ไม่หลงมีกิเลส ตัณหาต่อสิ่งใด ๆ แล้ว แต่ถ้ายังยึดถือ “รู้” ก็จะทำให้ไม่พ้นทุกข์ เช่น….
หลงยึดถือว่าเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นตัวเรา
พยายามสงวนรักษาให้เป็นรู้ที่ไม่คิด
พยายามให้ผู้รู้เป็นความว่างเปล่า
พยายามรู้เฉย ๆ
หลอกตนเองโดยแกล้งหรือแสร้งทำเป็นอยู่กับปัจจุบันโดยไม่คิดอะไร
เป็นต้น
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565