ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ
กลับมาแล้วหนูเห็นชัดเลยเจ้าค่ะว่าในใจมันมีการส่งออกไปหาลูกและสามีเป็นระยะๆ ซึ่งก่อนหน้านี้มันก็เห็นนะเจ้าคะ แต่เห็นและเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องปกติของจิตที่ส่งออกไปของมันเอง แต่ไม่เข้าใจว่ามันเป็นพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าข้างในลึกๆ มันยังมีการยึด และห่วงเอาไว้อยู่เจ้าค่ะ
และอีกสิ่งหนึ่งที่เห็นเพิ่มคือการมี “ตัวเรา” เข้าไปมีส่วนได้เสียในเกือบจะทุกๆ ความคิด ทุกๆ กริยาจิต ทุกๆ กริยาทางกาย เจ้าค่ะ
แล้วก็เห็น... ผู้เห็น... นั้นด้วย แต่ไม่ได้ทุกครั้งไป ในบางครั้งมีเราเป็นผู้เห็นเลย
เห็นตัวเราที่ขยับเข้าไปดู รู้จิต เห็นตัวเราที่ชะโงกเข้าไปดูความเงียบสงบในใจ
เหมือนตอนนี้ข้างในมันมีปัญญาไล่รู้ ไล่ปล่อยวางของมันเอง อธิบายไม่ค่อยถูกเจ้าค่ะ
บางครั้งข้างในมันก็เงี้ยบเงียบ บางครั้งก็ปรุงๆๆ ก็พยายามโยนิโสเอาไว้เจ้าค่ะว่า ธรรมชาติมีแค่ 2 อย่างเท่านั้น... ไม่มีเรา
กราบขอความเมตตาจากหลวงตาช่วยชี้แนะสิ่งที่ยังผิดพลาดอยู่เจ้าค่ะ
หลวงตา : ให้เห็นว่า มีตัวเราผู้พยายามดิ้นรน ค้นหา……ตลอดเวลา นั้น เป็นจิตอวิชชา หรือ จิตปรุงแต่ง หรือ จิตใต้สำนึกที่อยู่ลึกกว่าอาการของขันธ์ห้า ส่วนอาการของขันธ์ห้า ไม่มีอวิชชา และ กิเลส ตัณหา
อวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน ที่อยู่ในจิตใต้สำนึก มันปรุงแต่งยึดมั่นเป็นตัวเรา ของเรา มันปรุงแต่งด้วยความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ไปจากธรรมชาติตามความเป็นจริง ได้แก่ สิ่งใดเกิด สิ่งนั้นดับ สิ่งใดไม่เกิด สิ่งนั้นไม่ดับ และ ความเกิดดับย่อมเกิดดับในความในความไม่มี
พระพุทธเจ้า พระปัจเจกพระพุทธเจ้า พระอรหันต์ไม่มีจิตใต้สำนึกที่มีอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน พระองค์และท่านเหล่านั้น คงมีแต่กิริยาหรืออาการของขันธ์ห้า กับ ธรรมชาติเดิมแท้ จิตเดิมแท้ หรือ ใจเดิมแท้ซึ่งเป็นความไม่มีอะไร
ไม่มีแม้แต่จิตว่าง ใจว่าง หรือ จิตบริสุทธิ์ ใจบริสุทธ์
ถ้าตราบใดยังมีความเห็นผิดว่า…. มีจิตหรือใจบริสุทธ์ หรือ จิตหรือใจว่าง หรือ มีนิพพานที่หมายไว้ ก็จะมีอวิชชา มีความหลงยึดมั่นว่ามีตัวเราจะถึง จะได้นิพพาน หรือ มีจิตหรือใจของเราว่างอยู่รำ่ไป
เมื่อยังหลงมีตัวเรา ของเรา ก็ยังเป็นทุกข์
เมื่อสิ้นหลงยึดมั่นว่ามีตัวเรา มีจิตหรือใจของเรา ก็จะสิ้นตัวตนของผู้เสวยหรือยึดมั่นถือมั่นในจิตใต้สำนึก
คงเหลือแต่กิริยาหรืออาการของขันธ์ห้าในปัจจุบันขณะ กับ ธรรมชาติเดิมแท้ ซึ่งเป็นความ “ไม่มี”
จนกว่าขันธ์ห้าจะแตกดับ เรียกว่า “อนุปาทิเสสะนิพพาน”
วิญญาณจะดับไปเหมือนเปลวไฟสิ้นเชื้อ….เอวัง!
ปุจฉาวิสัชชนาธรรมเมื่อวันที่18 กันยายน 2564