ผู้ถาม : กราบค่ะ ด้วยความซาบซึ้งในข้อธรรมทั้ง 2 อย่างมากๆ เลยค่ะ ถึง “ใจ” ตรงๆ แรงๆ เลยค่ะหลวงตา
“อริยสัจ 4”
สมุทัย (เหตุ) = เห็นผิด (มิจจาทิฐิ) คิดว่า กาย (รูป) + (จิต+เจตสิก) นาม เป็นเรา เป็นของเรา
ทุกข์ (ผล) = เพราะเห็นผิด (อวิชชา/ความหลง/ความไม่รู้) จึงยึด “ความไม่มี” เป็น “ความมี”
มรรค (เหตุ) = เห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ) เพียรมีสติ ถอดถอน ความเห็นผิดที่ติดมาทั้งหมดทั้งสิ้นใน “รูปและนาม” เพื่อให้เห็น “สัจธรรม” (ความจริง) เดียวกับพระพุทธองค์และสาวกของท่าน
นิโรธ (ผล) = เพราะเห็นถูก จึงเป็น “สัจธรรม” เดียวกันกับพระพุทธองค์และสาวกของท่าน
ส่วนธรรมหลวงตามหาบัว “มิจฉาสมาธิ” และ “สัมมาสมาธิ”
จุดสังเกตง่ายๆ ของทั้ง 2 ข้อนี้คือ
“มิจฉาสมาธิ”
จะมีแต่เพิ่มความเป็นตัวเป็นตน (อัตตา) มากขึ้น เพราะคิดว่าการรู้เห็นได้ “ฌาน” นั้นเหนือผู้อื่น เหนือมนุษย์ เป็นพลังอำนาจพิเศษ ที่มากกว่าใครๆ มาครบหมดทั้ง 3 (โทสะ โลภะ โมหะ) แต่ไม่รู้ตัว เพราะเข้าใจว่าเป็นทางที่ถูกต้อง รวมถึงความสงบนิ่งว่างในอำนาจของ
“ฌาน” ใน “สมถะ”
จริงๆ ทาง “วิปัสสนา” ถ้ายึดความรู้ ความเห็น ความรู้แจ้ง เป็นเรา เป็นของของเรา ก็ไม่ต่างกับทางสมถะ ที่ยึดอำนาจของ “ฌาน” ค่ะ = เพิ่ม “อัตตา” ทั้ง 2 กรณี และก็เป็นทาง “โลกียธรรม”
***ทุกข์จะมากขึ้น เพราะทุกขั้นตอนที่กระทำเพื่อตัวเรา เพื่อสนองความอยากให้เราได้
“สัมมาสมาธิ”
จุดสังเกต คือ เป็นไปเพื่อถอดถอน ลดละ สลัดคืน ลดละความยึดถือในความมีความเป็นตัวตน (รูป/นาม/จิต+เจตสิก) เป็นไปในทาง “โลกุตรธรรม” ค่ะ
***ทุกข์จะน้อยลง เพราะถอดถอนแล้วใน อสังขตธาตุ และสังขตธาตุ
กราบในธรรมของพระพุทธองค์ ครูบาอาจารย์และหลวงตาอย่างเป็นที่สุดเลยค่ะ ซาบซึ้งมากที่สุดเลยค่ะ
หลวงตา : “มิจฉาทิฎฐิ” ความเห็นผิด หรือ วิปลาส 3 คือ
สำคัญผิด (สัญญาวิปลาส)
คิดผิด (จิตวิปลาส)
มีความเห็นผิด(ทิฏฐิวิปลาส)
ทั้งนี้ เพราะไม่รู้ตามความเป็นจริง (อวิชชา) ว่า
สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งปวงรวมขันธ์ห้า ไม่เที่ยง
สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งปวงรวมขันธ์ห้า เป็นทุกข์
สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวง ทั้งสังขาร และ วิสังขาร เป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตนคงที่ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา
เมื่อเป็น “อวิชชา” จึงหลงยึดมั่นถือมั่นสังขาร และ วิสังขาร เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงมีความดิ้นรนทะยานอยาก (ตัณหา) ไปตามความยึดถือ (อุปาทาน) ด้วยความรัก ความพอใจ เป็นความอยากได้ อยากเอา อยากเป็นนั่น อยากเป็นนี่ หรือ ด้วยความเกลียดชัง ความไม่พอใจ เป็นความอยากไม่ให้เป็นอย่างนั้น อยากไม่ให้เป็นอย่างนี้ เช่น อยากไม่ให้มีอาการทางกาย หรือ อาการทางใจที่ไม่ถูกใจ หรือ อยากให้มีแต่อาการที่ถูกใจ เช่น อาการโปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่างเปล่า อยากไม่ให้มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความพลัดพรากจากคนที่รัก สิ่งที่รัก ซึ่งเป็นสมุทัย คือ เป็นเหตุให้เกิดทุกข์
ถ้ารู้แจ้งในสัจธรรมความจริงว่า.... ทั้งสังขารและวิสังขาร ไม่มีอะไรแม้เพียงสักน้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง หรือ ปรมาณูหนึ่งที่เป็นตัวตนคงที่ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงไม่อยู่ในบังคับของเรา ก็จะสิ้นหลงยึดมั่นถือมั่น (สิ้นอุปาทาน) สิ้นตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยาก ก็จะเป็นมรรค นิโรธ
ดังนั้น ความพ้นทุกข์ (นิพพาน) ก็เพราะสิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือ
สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ ธรรมทั้งปวง ทั้งสังขารและวิสังขาร ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวตนคงที่ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
จึงสิ้นเหตุเกิดให้เป็นทุกข์ในชาตินี้และชาติต่อๆไป
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564