คำถามจากโยม : ขอเรียนถามหลวงตาว่า ถ้านิพพาน เหลือแต่ธาตุรู้ไปรวมตัวกับจักรวาล แล้วธาตุรู้จะไปรู้อะไรต่อคะ โยมสงสัยค่ะ
ตอบคำถามโดยทีมงาน :
หากเกิดความสงสัยใคร่รู้ แล้วติดไปดิ้นรนค้นหาคำตอบ
ย่อมมีสิ่งให้สงสัยอยู่ร่ำไป ไม่เลิกไม่รา
ไม่มีสิ้นสุด หมดโอกาสสิ้นสงสัย
ธรรมะมีเพียงรู้ปัจจุบันขณะ ไม่ติดไม่ยึดปัจจุบันขณะ
คือ รู้ว่าขณะปัจจุบันมี “ตัวเรา” ที่สงสัยใคร่รู้คำตอบ
ไม่ยึดถือเป็นตัวเราจริง ๆ จัง ๆ
เพราะ “ตัวเรา” ที่สงสัยใคร่รู้นี้เกิด ๆ ดับ ๆ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ปล่อยให้ “ตัวเรา” นี้เกิดเก้อ ๆ ดับไปอย่างเก้อ ๆ
จบลงที่ “รู้” ปัจจุบันขณะ ไม่ติดไม่ยึดสิ่งใด… ก็จบที่ใจ ไม่มีผู้ทุกข์
เช่นนี้จึงเป็นทางแห่งความพ้นทุกข์
โยมทีมงาน กราบเรียนถามหลวงตา : แต่มันมีความรู้ออกมาอีกเจ้าค่ะ ว่า
ส่วนความจริงตามธรรมชาตินั้น… ไม่มีสิ่งใดเป็นอะไรจริง ๆ เลย
หมายความว่า สรรพสิ่งนั้นไร้ความหมายอย่างสิ้นเชิง
เมื่อมีอวิชชา จึงมีความหลงปรุงแต่งสร้างโลกขึ้นมา
มีสิ่งนั้นสิ่งนี้จริง ๆ ขึ้นมาในใจ
เมื่ออวิชชาดับไป สิ้นหลงว่ามี “ตัวตน” อยู่ในธรรมชาติ
“โลก” ที่เกิดจากการหลงปรุงแต่งขึ้นก็ดับลง
เมื่อธาตุแตกขันธ์ห้าดับลง ธาตุรู้กลืนเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาล
ธาตุรู้ยังคง “รู้” ทุกสรรพสิ่ง แต่ทุกสรรพสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้มีความหมาย
เป็นเพียง “สิ่ง” ๆ นึงที่เกิด ๆ ดับ ๆ
แม้ “รู้” เองก็ไม่ได้มีความหมายอะไร แค่รู้ว่าทุกสิ่งนั้นเกิด ๆ ดับ ๆ แต่ตัวมันไม่ปรากฏและไม่เกิดไม่ดับ
เป็นเพียง “ความรู้” ที่ปราศจาก “ตัวตน” ของผู้รู้
เป็น “ความรู้” คู่ธรรมชาติซึ่งมีอยู่แล้วเป็นอมตะ
ยังคงมีต้นไม้ มีน้ำ มีอากาศ มีก้อนหิน มีสัตว์ ฯลฯ
แต่ไม่เรียกสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอะไรเลย
สิ้นโลกเหลือธรรม หมายถึงว่า.....
สิ้นโลก คือ สิ้นปรุงแต่งว่า “สิ่ง” ที่เกิด ๆ ดับ ๆ นั้นว่าเป็นอะไร สิ้นความหมาย สิ้นคุณค่า สิ้นสมมุติที่ใจ
เหลือธรรม คือ เหลือธรรมที่ไม่ปรุงแต่งซึ่งเป็นธรรมชาติเดิมแท้ที่ไม่ได้มีอะไรเป็นอะไร ไม่เกิดไม่ดับ
ทุกสรรพสิ่งที่ปรากฏจึงเป็นเพียง “สิ่ง” เกิด ๆ ดับ ๆ ของมันเช่นนั้นเอง
เหมือนแสงระยิบระยับเกิด ๆ ดับ ๆ ในความว่าง
ไม่มี “ความหมาย” หมดคำพูดที่จะให้เรียก หรือ กล่าวถึงว่าอะไรเป็นอะไรอีกต่อไป
หลวงตา : รู้ ผู้รู้ที่รู้สึกว่าเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นเรา
ถอนเราออกจากรู้
เหลือแต่ “รู้” ที่เป็นธรรมชาติบริสุทธิ์
มันเป็นธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติ เพราะไม่มีเราหลงยึดถือครบครองเป็นเจ้าของธรรมชาติ
เหมือนดังที่หลวงพ่อชา สุภัทโท กล่าวว่า
“ถอนไส้ตะเกียงออก แสงสว่างก็ดับหมด”
คือ ถอนความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) ที่หลงยึดมั่นถือมั่นขันธ์ห้าว่า เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา หรือ
หลงยึดมั่นถือมั่นจิต ใจ วิญญาณ หรือ ธาตุรู้ ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา เสีย
อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็ดับหมด
“ธาตุรู้” ซึ่งเป็นธาตุตามธรรมชาติ
เมื่อไม่มีเรา หรือ ตัวเราหลงยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของเขา จึงบริสุทธิ์
เป็นความรู้รวมกับความว่างของธรรมชาติหรือจักรวาล
รู้ว่าสิ้นสมมติ
รู้ว่าสิ้นผู้เสวย หรือ สิ้นผู้ยึดมั่นถือมั่น
ตลอดกาล
ถ้าโยมพิจารณาให้ดี ๆ.... จะเห็นว่า มันมีสังขารปนอยู่ในธรรมชาติของธาตุรู้ คือ ความรู้สึกว่าเราเป็นคนรู้ หรือ ผู้รู้เป็นตัวเรา
รู้จึงไม่บริสุทธิ์
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562