ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ
- การเพียรรู้เท่าทันสังขารที่เกิดขึ้นทุกขณะปัจจุบัน กับ
- การเพียรพิจารณาระลึกถึงธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ความตาย ความไม่เที่ยง ความเมตตา
ทั้ง 2 แบบนี้ที่หลวงตาสอน ขอกราบเรียนถามว่า เหมือนกัน ต่างกัน เหมาะกับผู้มีจริตอย่างไรเจ้าค่ะ กราบขอหลวงตาโปรดเมตตาด้วยเจ้าค่ะ
และการทำสมาธิเพื่อให้จิตสงบ แบบที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านกล่าวว่าเพื่อเป็นการพักจิตนั้น หมายถึงความสงบนั้นต้องสงบขนาดไหนเจ้าคะ คือสงบแบบต้องอยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น หรือสงบแบบรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้นเจ้าคะ กราบขอเมตตาจากหลวงตาช่วยอธิบายเจ้าค่ะ
หลวงตา : การพิจารณา กาย เวทนา จิต ธรรม หรือ ขันธ์ห้า ซึ่ง เป็นสติปัฏฐานสี่ในตัวเรานั้น มีวัตถุประสงค์เดียว คือ เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งถึงใจว่า ไม่ใช่ตัวตนคงที่ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่มีอะไรเลยสักน้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง ปรมาณูหนึ่ง ที่เป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา ต้องตายหรือแตกดับกลับคืนสู่ธาตุตามธรรมชาติ คือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ และ ธาตุรู้ (สุญญตาธาตุ หรือ นิพพานธาตุ... ฯ) ไม่เหลือความเป็นตัวตนของเราแม้แต่น้อยหนึ่ง นิดหนึ่ง ปรมาณูหนึ่งเลย
ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ไปรวมกับ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟในธรรมชาติ
ส่วนธาตุรู้ไปรวมกับความว่างในธรรมชาติ เมื่อเป็นความว่าง จึงแทรกซึมไปในธาตุต่าง ๆ ในธรรมชาติได้ทุกธาตุ ทุกที่
ธาตุรู้บริสุทธิ์ (เพราะสิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน หรือ หายโง่เพราะสิ้นหลงยึดมั่นถือมั่นสังขาร คือ ขันธ์ห้าหรือ กาย เวทนา จิต ธรรม ว่าเป็นตัวตนของเรา เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา)
เป็นความรู้ที่เป็นอมตธาตุ อมตธรรม รู้ว่าไม่มีตัวตนของเรา ไม่มีตัวเรา ไม่มีเราที่เป็นตัวตน จึงไม่มีตัวตนของเรา มีตัวเรา มีเราไปยึดถือธาตุรู้หรือใจ หรือ สิ่งใด ๆ ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ ให้เพียรพิจารณาให้เห็นสัจธรรมความจริงตามที่ลงแก่ใจอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ใจก็พบความจริง ยอมรับความจริง ไม่ฝืนความจริงจนถึงใจ ก็จะปล่อยวางความหลงยึดมั่นถือมั่นหมดสิ้น ก็พ้นทุกข์ (นิพพาน)
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2562