ผู้ถาม : กราบขอโอกาสหลวงตาเจ้าค่ะ ไฟล์เสียงที่หลวงตาส่งมาวันนี้ อนุปุพพิกถาฯ ตอนที่ 3 ที่หลวงตากล่าวถึงว่าให้ตัดให้ขาด กับกรณีที่หลวงตาเคยสอนว่าอย่าไปฆ่าตัดตอน ต่างกันอย่างไรเจ้าคะ ขอหลวงตาโปรดเมตตาช่วยอธิบายเพิ่มเติมเจ้าค่ะ
หลวงตา : “ตัดให้ขาด” หมายถึง มีความเยื่อใยต่อสิ่งใด จิตย่อมจะส่งออกนอกไปคิดถึงเขาหรือไปหาเขา ต้องมีสติ ปัญญารู้เท่าทันในปัจจุบันขณะ ตัดให้ขาด เช่น โยมคนหนึ่งเขาปฏิบัติด้วยการบริกรรมพุทโธ แต่เขาก็มีจิตห่วงใยหลานสาว ต่อมาเมื่อหลานสาวท้อง ขณะที่เขาบริกรรมพุทโธอยู่นั้น เห็นจิตส่งออกนอกไปเข้าท้องหลานสาว จึงรู้ว่าเขาจะตาย แล้วจิตหรือวิญญาณจะไปเกิดเป็นลูกของหลานสาว เขาเร่งบริกรรมพุทโธให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย แล้วตัดความเยื่อใยเหมือนตัดสายใยขาดสนิท หลานก็แท้ง เขาเลยยังไม่ตาย หลังจากนั้นเขาเร่งเพียรปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง หลังจากเขาตายแล้ว กระดูกเขาเป็นพระธาตุ
ส่วน “ฆ่าตัดตอน” หมายถึง พยายามดับหรือฆ่าจิตตสังขาร คือ อาการของจิตใจที่ไม่ชอบใจ หรือ ที่คิดปรุงแต่งในปัจจุบันขณะ เพื่อให้เหลือแต่ความนิ่งว่าง เมื่อฆ่าตัดตอนจิตตสังขารไม่ได้อย่างใจ ก็หนีความทุกข์ หรือหนีอาการของใจ หรือหนีจิตตสังขาร ที่คิดปรุงแต่งพูดพากษ์ตลอดเวลา ไปอยู่กับความรู้สึกว่าง ๆ ที่ปรุงแต่งสร้างเอาไว้ หรือ ไปอยู่กับความคิดปรุงแต่ง หรือ สิ่งที่ทำให้เพลินใจ หรือ ไปอยู่กับกิจการงานต่าง ๆ
โดยไม่มีความเพียร ความอดทนที่จะสังเกต พิจารณา เรียนรู้จิตตสังขารในปัจจุบันขณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รู้เท่าทันสมุทัยที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ คือ หลงส่งจิตออกนอกไปหาสิ่งที่ชอบใจ หรือไม่ชอบใจ ในปัจจุบันขณะ หรือ ไม่มีความอดทนที่จะสังเกตเห็นจิตตสังขารทุกปัจจุบันขณะ ตั้งแต่หยาบ ปานกลาง ละเอียดจนถึงปรมาณู จนรู้เห็นหรือรู้แก่ใจว่า จิตตสังขารเขาเกิดเองดับเองอย่างเก้อ ๆ ตลอดเวลา เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จึงสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น ไม่มีผู้ไปอะไรอะไรกับเขา
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562