ผู้ถาม : กราบนมัสการครับหลวงตา
จิต กับ ใจ
ใจ เป็น วิสังขาร
จิต เป็น สังขาร
ใจ มีหนึ่งเดียว คือ |รู้|
(ธรรมธาตุ, วิญญาณธาตุ
นิพพานธาตุ, สุญญตาธาตุ
อมตะธาตุ) เรียกตามคุณสมบัติของใจ
ส่วน .. จิต มีมากหน้าหลายตา
นับไม่ถ้วน
ท่านพุทธทาสท่านกล่าวไว้ว่า
สังขาร คือ สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ
วิสังขาร
ดังนั้น
จิต ปรุงแต่งได้
ใจ ปรุงแต่งไม่ได้
จิต เกิดดับได้
ใจ ไม่เกิดดับ
จิต เปลี่ยนแปลงได้
ใจ เปลี่ยนแปลงไม่ได้
เป็นต้น ดังนั้นการปฏิบัติต้องทวนเข้าหาผู้รู้ หรือ ใจ นั่นเอง
ถ้าหลงไปกับจิต ก็จะทุกข์
ถ้าเป็นใจ แล้ว พ้นทุกข์
แต่สุดท้ายถ้ามีเราไปยึด ใจ ก็ทุกข์ทันที
เพราะการยึด ต้องมีตัวเราไปยึด
เกิดอวิชชาขึ้นมา
เป็นสังขาร ก็ให้รู้เท่าทันสังขาร
และไม่หลงติดไป
การปฏิบัติมีเท่านี้
คือ "รู้" ให้ทันสังขาร และ
ไม่หลงติดไป ก็จะเป็นใจ
แต่ไม่ยึดใจ
ดังนั้นองค์หลวงปู่หล้า
ท่านจึงสอนว่า ...
นิพพาน ไม่มีที่หมาย
นิพพาน ข้ามผู้รู้ (ใจ)
นิพพาน ไม่ยึดทั้งสังขาร
และ วิสังขาร
นิพพาน ไม่ยึดทั้งสมมติ
และ วิมุติ
เพียรมี สติสัมปชัญญะ ปัญญา
ให้แน่วแน่ อยู่ในใจเสมอว่า
จิต ล้วนเกิดดับ อยู่ในใจ
จากใจ ที่ว่างเปล่า สักพัก ก็มี
บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นมาตลอด และ ดับหายไปตลอด
มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ไม่คงที่ จนกว่าขันธ์ 5 จะตายแล้วมันเกิดดับที่ |ใจ|
ดังนั้น ใจ มันจึงรู้ทุกอย่างที่
เกิดขึ้น และ มันรู้ ด้วยว่า สิ่งที่เกิดดับ ไม่ใช่มัน และ
ใจมันก็รู้จักตัวมันเอง มัน
จึงไม่หลงไปเป็น จิต
จิต กับ ใจ จึงต่างกันอย่างนี้
การปฏิบัติจึงต้องแม่นยำ
ตรงที่แม่นยำ ตรงนี้คือ
สติ สมาธิ ปัญญา เป็น
เรือข้ามฟาก เป็นขันธ์ 5
(ยืมมาใช้)
เมื่อถึงฝั่งแล้ว ก็ วาง
คือ ไม่มีอวิชชา ครอบงำ
อวิชชา คือ ความไม่รู้ ความหลงเข้าใจผิด คิดว่า ขันธ์ 5 เป็นเรา
เป็นของเรา มีตัวตน
(มิจฉาทิฏฐิ)
พระพุทธเจ้า องค์ท่านสอนให้เห็นว่า (เจริญมรรค)
ขันธ์ 5 ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา
ไม่มีตัวตน
เมื่อใด ที่เรามีความเห็นแบบนี้จึงเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
การปฏิบัติ จึงแค่เพียร
ละความเห็นผิด และ
เจริญความเห็นถูกให้มีมากขึ้น ๆ
การปฏิบัติมีเท่านี้
จบ (ผลิตผลจากพี่จ๋า และหมอโอ๋ ครับ)
หลวงตา : สาธุ ถูกต้องแล้ว คำว่า “จิต” กับ “ใจ” ก็เป็นเพียงชื่อสมมติ ที่บัญญัติศัพท์ขึ้นมา เพื่อสื่อสารให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งอาจจะบัญญัติชื่อเรียก ดังนี้
อาการของจิต (จิตตสังขาร) กับ จิต หรือ จิตเดิมแท้ หรือ จิตดั้งเดิม (วิสังขาร หรือ ธาตุรู้)
อาการของใจ (จิตตสังขาร) กับ ใจ (วิสังขาร หรือ ธาตุรู้)
จิต (จิตตสังขาร) กับ ใจ (วิสังขาร หรือ ธาตุรู้)
จิตปรุงแต่ง (จิตตสังขาร) กับ พุทธะ หรือ พุทโธ (ธาตุรู้)
.................ฯลฯ
ถ้าคนต่างชาติ หรือ แม้แต่คนชาติเดียวกัน ก็ สมมติเรียกชื่อสังขาร กับ วิสังขาร แตกต่างกันไป
ซึ่งถ้าเข้าใจความหมายให้ตรงกันเสียแล้ว ก็จะไม่ถกเถียงกันด้วยภาษา
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562