ผู้ถาม : ตะกี๊ทบทวนความคิดที่เกิดขึ้นมาว่า ทำไมการแปลไทยเป็นอังกฤษถึงไม่ผ่านฉลุย ทบทวนดูแล้วมีสิ่งที่ขวางคือ
- ความเสียดายที่ไม่สามารถเก็บรายละเอียดคำทุกคำรวบในภาษาอังกฤษได้
- ครั้นจะแปลแบบสรุปเอาความเข้าใจ ก็มีสิ่งที่ขัด ๆ คือมันเปลี่ยนจังหวะกระบวนการถ่ายทอด
ทบทวนมานานค่ะว่า เรามีข้อจำกัดกับตัวอักษรและถ้อยคำวางไว้เป็นกรอบ เพื่อไม่ให้คลาดเคลื่อน ทั้งภาษาจังหวะและวิธีการ
ส่วนคำภาษาอังกฤษเราก็มีความอยากให้เป็นประโยชน์เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่
แต่สิ่งที่ผุดขึ้นมาเมื่อครู่คือ จริง ๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องการดำเนินไปของจิต
ถ้าจะให้ไม่เคลื่อนไปจากต้นฉบับ มีแค่ทางเดียวคือ ต้องออกมาจากจุดที่ไม่มีที่อ้างอิง ที่เป็นธรรมแท้ เท่านั้น เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่จะไม่เคลื่อน
อักษร ไวยากรณ์ รูปแบบ ไม่สามารถจะสร้างความสมบูรณ์แบบได้ ขึ้นกับคนอ่าน ความชอบ ถูกใจ โดนใจต่างกัน ไม่สามารถหาความสมบูรณ์จากปลายทางได้ แต่ต้องสมบูรณ์ที่ใจเท่านั้นค่ะ
กราบขอบคุณองค์หลวงตาค่ะ ที่ให้อิสระอย่างมาก แต่ “ตนเอง” ก็มักจะสร้างกรอบขึ้นเสมอ ด้วยความไม่รู้รอบ รู้พ้น กราบขอขมาในความไม่รู้มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ
ที่ผ่านมาการตรวจทานก็จะรู้สึกตรวจลำบาก ไม่รู้จะตรวจยังไง คืออาจมีผิดไวยากรณ์ แต่ถูกธรรม อาจจะมีทางเลือกคำที่รัดกุมกว่า (ไม่ทำให้ตีความเป็นอื่น) แต่ก็ไม่ผิดธรรมอีก จะแก้ยังไง
สรุปว่าถ้าจะโต้แย้งกันด้วยสมมติก็คงไม่มีสิ้นสุด เลยว่า ถ้าทำงานจากใจจริง ๆ ก็จะรู้เอง ไม่มีโต้แย้งค่ะ นี่เป็นเหตุที่ไม่ว่าอย่างไร ประโยชน์ตนต้องถึงที่สุดก่อนจริง ๆ ถึงทำประโยชน์ท่านอย่างสมบูรณ์
กราบขอบพระคุณองค์หลวงตาค่ะที่ให้โอกาสอย่างที่สุดที่ให้ได้เรียนรู้ธรรมจากงานค่ะ
หลวงตา : สาธุ
ภาษาเป็นสมมติ
ส่วน “ใจ” เป็นธรรมธาตุ เป็นวิมุติ
ภาษาแม้จะสละสลวยเพียงใด ก็เป็นสังขาร หรือ สิ่งปรุงแต่ง ส่วน “ใจ” ที่เป็นธรรมแท้ หรือ ธรรมธาตุนั้น เป็น วิสังขาร หรือ อสังขตธาตุ หรือ อสังขตธรรม
ดังนั้น แม้จะแปลถูกต้องสละสลวยตามหลักไวยากรณ์เพียงใด ก็เป็นเพียงสังขารธรรม
ไม่ใช่วิสังขารธรรม จึงย่อมไม่ถึง “ใจ”
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล พ่อแม่ครูอาจารย์ที่เคารพนับถือ กล่าวว่า
“คิดเท่าไหร่ ก็ไม่รู้
หยุดคิด ถึงจะรู้
แต่ต้องอาศัยคิด”
ดังนั้น
จะถึง “ใจ” ที่เป็นธาตุรู้ ต้องหยุดคิดปรุงแต่ง แต่ก็ต้องอาศัยภาษาสมมติบัญญัติที่เป็นความคิดปรุงแต่ง จึงจะสื่อสารให้ถึง “ใจ” ที่เป็นวิสังขาร หรือเป็นธรรมชาติที่ไม่อาจคิดปรุงแต่งได้
เพราะ “ใจ” เป็นธรรมธาตุ หรือ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในธรรมชาติ แต่สิ่งนั้นไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่ใช่ธาตุอากาศ ซึ่งเป็นความว่างที่ไม่เป็นความรู้ ไม่ใช่อรูปฌาน ไม่ปรากฏอะไรเลย ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่อาจถูกทำลายได้ ไม่อาจถูกรับรู้ได้ทางอายตนะภายใน ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่ง ไม่ได้มีขึ้นมาเพราะการเกิด และไม่ได้สิ้นสุดเพราะการตาย นี่แหละเป็นที่สุดแห่งทุกข์
จากประสบการณ์ตรงที่มีล่ามช่วยแปลภาษาในขณะที่หลวงตากำลังไล่ขณะจิตของฝรั่ง เพื่อให้ฝรั่ง
***** “หยุด”.... หมกมุ่นครุ่นคิดปรุงแต่งหาธรรมแท้ นั้น
เกิดปัญหาคือ คนแปลพยายามอย่างยิ่งท่ีจะพูดให้ฝรั่ง “เข้าใจ” คำพูดของหลวงตา เมื่อฝรั่งไม่เข้าใจ ก็ยิ่งเปิดช่องให้ฝรั่งมีโอกาสคิดปรุงแต่งโต้ตอบมากยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ
จนไม่สามารถทำให้ฝรั่งหยุดคิดปรุงแต่งหาเหตุ หาผลได้
ซึ่งสวนทางกับความต้องการของหลวงตา ซึ่งต้องการพูดดักหน้า ดักหลัง เพื่อวัตถุประสงค์เดียว คือ ทุกคำตอบให้ฝรั่งสะดุดขาตนเอง หรือ ยืมคำถามความสงสัยของเขาฆ่าความหลงคิดปรุงแต่งที่จะพยายามเอาตัวตนของเขาไปดิ้นรนค้นหาธรรม หรือ พระนิพพาน ซึ่งถ้าเขายิ่งคิดปรุงแต่งดิ้นรนค้นหาเขาก็จะยิ่งห่างไกลธรรมแท้ หรือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นใจ หรือ เป็นธาตุรู้ หรือ ธรรมธาตุ หรือ ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งนั้นได้เลย
เขาจะพบธรรมแท้ หรือ นิพพานได้ ก็ต้องหยุดคิดปรุงแต่งดิ้นรนค้นหา จึงจะเป็นใจที่เป็นธรรมแท้ ซึ่งเป็นพระนิพพาน
ดังนั้น ผู้สอนเขา ผู้เป็นล่าม หรือผู้ชี้แนะจะต้องเร่งฝึกฝนตนเองให้เข้าถึงใจที่เป็นวิสังขาร หรือ เข้าถึงใจที่สงบเงียบสงัดไปทั้งโลกธาตุภายในและภายนอก จนเป็นปัจจัตตัง รู้แจ้งแก่ใจของตนเอง แล้วด้วยอำนาจใจที่เงียบสงบสงัด ก็จะเห็นจิตอวิชชาของตนเองและผู้อื่นได้ จนสิ้นอวิชชาเหลือแต่จิตที่บริสุทธิ์ที่มีแต่ความรู้ ไม่มีความหลงยึดปนอยู่ในความรู้เลย จึงจะเป็นจิตดั้งเดิมแท้ ๆ หรือใจดั้งเดิมแท้ ๆ ที่เป็นธรรมธาตุหรือนิพพานธาตุอย่างเป็นอมตธาตุ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2562