ผู้ถาม : ขอโอกาสกราบเรียนหลวงตาค่ะ ฟังไฟล์ “ธรรมไม่ใช่ทำ” จบแล้วค่ะ คิดว่าสิ่งที่ควรระวังระวัง คือ เมื่อใช้คำว่า “เรา” ในความรู้สึกก็จะมี “ตัวเรา” ที่เป็นอัตตาอยู่ค่ะ อีกสิ่งหนึ่งที่ฟังแล้วทำให้นึกถึง คือ คำว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” และ “อนุปาทิเสสนิพพาน” และการอธิบายของหลวงปู่ดูลย์ที่พูดถึงการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าไว้ แต่ไม่ทราบว่าจะถูกหรือเปล่าคะ ? หนูพยายามพิจารณาตรงนี้กลับไปกลับมาอยู่เป็นเวลานานพอสมควรแล้วค่ะ เหมือนจะมีความเข้าใจประมาณว่า
การสักแต่ว่ารู้ความว่างโดยไม่ไปหลงยึดถือความว่าง จึงเป็น “ใจ” หรือ “ธาตุรู้” ตามธรรมชาติ ตรงนี้อยู่เหนือสมมุติทั้งปวง คือ เหนือสมถะ ที่เป็นรูปฌานและอรูปฌาน และอยู่เหนือวิปัสสนาที่เป็นความว่าง
ในการปฏิบัติเราพิจารณาทวนกระแสเข้าหาใจตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ พิจารณามรณานุสสติหรืออสุภกรรมฐาน จนไม่ยึดมั่นถือมั่นในกาย ก็จะสิ้นยึดมั่นถือมั่นในเวทนาของกาย จะเหลือ จิตหรือเจตสิกหรือวิญญาณขันธ์ที่เกิดจากการทำงานร่วมกันของ สัญญา (ความจำ) สังขาร (ความคิดปรุงแต่ง) วิญญาณ (จิต) การเป็นธาตุรู้โดยธรรมชาติ ดับสิ่งเหล่านี้
ในทางปฏิบัติ คือ ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ทำงานไปตามปกติตามธรรมชาติ โดยไม่ได้มีตัวเราไปไล่ดับสิ่งเหล่านี้ ปล่อยให้ทุกอย่างเกิดขึ้นเองดับไปเอง ก็จะพบ “ธรรม” ตามหลัก กาย เวทนา จิต ธรรม
หากเปรียบการรับรู้ดังกล่าวกับการหายใจเข้าออก เมื่อมีการรับรู้อายตนะทั้ง 6 แล้วเอามาคิดปรุงหรือปรุงคิดภายในใจ เมื่อรู้แล้วการรับรู้และคิด (ผู้ถูกรู้) ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เหมือนการหายใจออก เมื่อเกิดใหม่จึงมีผู้รู้เข้าไปรู้ใหม่ วนไปเรื่อย ๆ ตลอดเวลาที่ยังมีชีวิตอยู่ นี่คือ สอุปาทิเสสนิพพาน
ส่วนอนุปาทิเสสนิพพานนั้นต่างกัน คือ การที่กายดับ เวทนาจึงดับ สัญญา สังขาร และวิญญาณ จึงดับตามไปตามลำดับ ในการดับครั้งนี้เป็นการดับสนิทไม่มีการเกิดดับขึ้นมาอีก เป็นการปล่อยหมด คือ ปล่อยลมหายใจสุดท้ายกลับคืนสู่สภาพปกติตามธรรมชาติ จึงเป็นการดับอย่าง “อนุปาทิเสสนิพพาน”
ความเข้าใจแบบนี้จะพอถูกต้องบ้างไหมคะ หรือเป็นมโนล้วน ๆ ค่ะ ขอหลวงตาเมตตาชี้แนะด้วยค่ะ
หลวงตา : ทิ้งความรู้ความเข้าใจเรื่องอะไรเป็นสอุปาทิเสสนิพพาน และ อนุปาทิเสสนิพพาน ที่มีอยู่ในใจไปเสียให้หมด
ไม่มีอะไรที่หมายไว้
ไม่มีผู้หมาย
ไม่มีตัวตนของผู้ถึงหรือไม่ถึง
มันก็จะเป็นความรู้ของธาตุรู้ที่บริสุทธิ์ล้วนๆ
โดยไม่มีความรู้สึกว่า เรา ตัวเรา ตัวตนของเราเป็นผู้รู้ หรือ
ไม่มีผู้ยึดถือว่าผู้รู้เป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา
เป็นนักสังเกต จดจำ เรียนรู้ ทำความเข้าใจว่าอะไรเป็นอะไร รู้แจ้งว่าอะไร หรืออย่างไรเป็นดี ชั่ว, กุศล อกุศล, บุญ บาป, สุข ทุกข์, รู้ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์, มีสาระ ไม่มีสาระ,
รู้กาละ เทศะ บุคคล โอกาส สถานที่ทั้งภายนอกและภายใน
รู้อะไรควรคิด ไม่ควรคิด ควรพูด ไม่ควรพูด ควรทำ ไม่ควรทำ รู้ทั้งเหตุและผล ในปัจจุบันขณะ
***เมื่อรู้แจ้งที่ใจแล้ว ก็จะต้องไม่เอาอะไรมายึดถือติดค้าง วิตกกังวลอยู่ในใจ เรียกว่า “ปล่อยวาง”
***** รู้แล้ว ติด เป็นสมมติ
รู้แล้ว ไม่ติด เป็นวิมุติ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562