ผู้ถาม : "ต้องรวมจิตให้เป็นหนึ่งเดียว
และทวนกระแสเข้ามาถึงต้นตอของจิต
จึงจะมองเห็นทุกข์และหยุดโลกวัฏสงสารได้"
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร
เทิดไว้เหนือเศียรเกล้า ด้วยเกล้า สาธุ
น้อมกราบขอโอกาสถามธรรมะท่านหลวงตาครับ "การรวมจิตเป็นหนึ่งเดียว" แล้ว "ทวนกระแส"ตามที่หลวงปู่สิมท่านเมตตาอบรมสั่งสอนไว้นั้น จะมีแนวทางปฏิบัติอย่างไรครับผม
ทีมงาน : การรวมจิตเป็นหนึ่ง คือ การที่ไม่ขาดสติหลงส่งจิตออกนอกติดไปกับสิ่งที่ถูกรู้
จิตก็จะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวไม่ซ่านออกไปข้างนอก ไม่หลงยึดติดยึดถืออะไร
และให้ “ทวนกระแสของความรู้” นั้นจนเห็นต้นตอที่เป็นจุดเริ่มและจุดดับไปของความรู้นั้น
ซึ่งเมื่อทวนกระแสถึงต้นตอจะพบว่า … จุดเกิดและจุดดับคือตัวจิตตัวใจที่เป็นสังขาร
เป็นตัวเริ่มต้นของความปรุงแต่งทั้งหมด เป็นตัวสร้างโลกก็ว่าได้
ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของความมีตัวตน เป็นจุดเริ่มต้นของความทุกข์
และตัวจิตที่สร้างโลกนั้นก็เกิด ๆ ดับ ๆ ไปในความไม่มีอะไรเลย
เมื่อรู้แจ้งแก่ใจแล้วว่า … สังขารก่อกำเนิดออกมาจากความไม่มีอะไรเลย
จึงสิ้นสงสัยถึงความมีตัวมีตน และหมดคำถาม
หลวงตา : การรวมจิตเป็นหนึ่ง คือ การที่ไม่ขาดสติหลงส่งจิตออกนอกติดไปกับสิ่งที่ถูกรู้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และธรรมารมณ์
ส่วนใหญ่ จะหลงส่งจิตออกนอกไปติดกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอกร่างกาย
แต่เมื่อพยายามจะไม่หลงส่งจิตออกนอกไปสยบติดกับสิ่งใดภายนอกร่างกาย โดยเฉพาะ เรื่อง ความรักของหนุ่มสาว หรือกับคนในครอบครัว กับคนอื่น หรือ ปัญหาเรื่องธุรกิจการงาน
ก็จะหนีสิ่งเหล่านั้นมาหลงส่งจิตออกนอกไปสยบติดกับธรรมารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกรู้ทางประตูใจ เช่น เวทนา จะพึงพอใจติดใจยินดีความรู้สึกนิ่ง เงียบ โปร่ง โล่ง เบา สบาย ว่างเปล่า จะเกลียดทุกข์ รักสุข ดีรัก ชั่วชัง กลายเป็นว่าหนีหยาบไปติดละเอียด
เมื่อไม่หลงส่งจิตออกนอกไปสยบติดกับสิ่งภายนอกร่างกาย และ ไม่สยบติดกับความรู้สึกของเวทนาดังกล่าวแล้ว
ก็จะมีสติ สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่งเดียวที่ใจ รู้เท่าทันจิตตสังขาร ที่คิดปรุงแต่งฟุ้งซ่านในปัจจุบันขณะ หรือ มีลักษณะจมติดไปกับความคิดโดยไม่รู้สึกตัว คนอื่นจะเห็นว่าเรามีอาการเหม่อลอย หรือ เรียกว่าใจลอย หรือ หมกมุนครุ่นคิดอยู่ภายในจนนอนไม่หลับ
ซึ่งความหลงติดไปกับความคิดในแต่ละปัจจุบันขณะ จะเหมือนกับว่าจิตหลงหมุนเวียนไปเป็นเลขหนึ่งไทย ซึ่งการหลงแต่ละขณะ จะมีจำนวนรอบไม่เท่ากัน อยู่ที่มีสติ สมาธิ ปัญญา รู้สึกตัวขึ้นมาเอง หรือ มีผู้อื่นมาช่วยเตือนบ่อย ๆในขณะนั้น
จนเป็นสติ สมาธิ ปัญญา ของตนเองขึ้นมา ทำให้รู้เท่าทันจิตตสังขารที่คิดปรุงแต่งในปัจจุบันขณะ ซึ่งความหลงติดไปกับจิตตสังขารที่คิดปรุงแต่ละรอบในปัจจุบันขณะก็จะสั้นลงเรื่อย ๆ
จนรู้เท่าทันจิตตสังขาร ตั้งแต่เริ่มต้นแสดงอาการคิด พยายาม หรือ แสดงอาการต่าง ๆ เช่น อาการเริ่มต้นจะดูจิต ก็เป็นจิตตสังขาร
การปฏิบัติแบบนี้ เรียกว่าทวนกระแสกิเลสที่หลงติดไปกับจิตตสังขารในปัจจุบันขณะ อันเป็นเหตุเกิดกิเลส และความทุกข์ทั้งมวล หรือ เป็นสมุทัย คือ ต้นเหตุที่ทำให้เกิดกิเลสและความทุกข์ทั้งมวล
“มีสติ สมาธิ ปัญญารวมเป็นหนึ่ง”
เฝ้าสังเกตจิตตสังขารอยู่เงียบ ๆ จริง ๆ เพื่อให้เห็น
ต้นจิตตสังขารในปัจจุบันขณะ
ตั้งแต่จิตตสังขารเริ่มต้นคิด พยายาม หรือ ปรุงแต่งแสดงอาการเริ่มต้นจะดูจิตขึ้นมา
แล้วจะเห็นขณะจิตตสังขารเริ่มต้นเกิดและดับพร้อมกันในปัจจุบันขณะ
และจะพบที่เกิดที่ดับของจิตตสังขารทุกปัจจุบันขณะ ว่าเกิดมาจากความไม่มีอะไร มันเป็นความว่างไม่มีขอบเขต เหมือนดั่งท้องฟ้า หรือ ความว่างของธรรมชาติ หรือ จักรวาล ซึ่ง มีชื่อสมมติเรียกว่า “ใจ หรือ จิตดั้งเดิม หรือ จิตเดิมแท้”
เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม สุญญตาธาตุ หรือ นิพพานธาตุ เป็นธรรมไม่สังขาร คือ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่มีตัวตน ไม่มีตัวจิตตัวใจ ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีที่หมาย
พระอริยสงฆ์หลายท่าน ซึ่งเป็นดั่งพ่อแม่ครูอาจารย์ ได้กล่าวไว้ว่า
“ผู้ใดพบใจ ผู้นั้นพบธรรม
ผู้ใดถึงใจ ผู้นั้นถึงนิพพาน”
เมื่อพบใจ พบธรรม ถึงใจ ถึงนิพพานแล้ว พระพุทธเจ้าก็มิให้ยึดถือใจ ยึดถือธรรม ยึดถือนิพพาน
***** เพียงแต่ได้ … “รู้รสของธรรม หรือ รสของนิพพาน” เท่านั้น
ซึ่งอย่างอื่นจะดับไปหมด ยกเว้นแต่ความรู้รสของนิพพาน หนึ่งเดียวเท่านั้น เป็น เอโก ธัมโม หรือ เอกะ ธัมโม ไม่เกิดดับ เป็นอมตธาตุ อมตธรรม ตลอดกาล
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2562