ผู้ถาม : หลวงตาคะ ครั้งก่อนท่านบอกว่าหนูติดแช่ ก็มาพิจารณากายช่วงหนึ่งค่ะ แต่ร่างกายช่วงนี้ปวดหัวข้างซ้าย ชามือซ้าย นั่งทำคอมนาน เครียดปิดบัญชี แต่มันเกี่ยวกับกับอาการติดแช่ไหมคะ มันโง่เองที่หลงใหลเข้าไปร่วม ยึดถืออาการของจิต ถ้าเห็น ไม่เข้าไปเป็นก็ไม่ทุกข์ค่ะ จึงต้องย้อนเข้าหาสภาวะที่มาเห็นว่ากำลังคิด มันทันความคิด สภาวะที่รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ ก็ให้รู้จัก ไม่เข้าไปเป็น ไปร่วมแบบนี้ไช่ไหมคะ ขอบพระคุณค่ะ
หลวงตา : “ใจ” แท้ ๆ เป็นธรรมชาติที่ไม่มีตัวตน ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็น “วิสังขาร อสังขตธาตุ อสังขตธรรม มหาสุญญตา นิพพาน ...” จึงยึดถือสิ่งใดให้เป็นทุกข์ไม่ได้ และ ไม่สามารถทำกริยาปล่อยวาง
ความทุกข์เพราะหลงเอาจิตตสังขาร หรือ ขันธ์ห้า มาหลงคิดปรุงแต่งยึดถือว่าเราเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ ความเห็นผิด หรือ ความหลงเข้าใจผิดในเรื่องของใจแท้ ๆ ซึ่งเป็นวิสังขาร กับ ขันธ์ห้า ซึ่งเป็นสังขาร
“สังขาร” เป็นธรรมชาติเกิดดับ มันเป็นธรรมชาติธรรมดาอย่างนั้นเอง ไม่มีใครสามารถยึดถือเอามาเป็นเจ้าของได้แท้จริง
ส่วน “วิสังขาร” ซึ่งเป็นจิตหรือใจแท้ ๆ (ไม่มีอวิชชา หรือ หายโง่ หายหลง แล้ว) มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น (เอโกธัมโม หรือ เอกะธัมโม) ไม่ใช่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ธาตุอากาศ ไม่ใช่อรูปฌาน เป็นธรรมชาติที่ไม่เกิดดับ ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปลักษณ์ ไม่มีเครื่องหมายหรือที่หมายที่จะยึดถือเอาได้
ทั้งไม่ใช่อายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และ ธรรมารมณ์ จึงไม่อาจถูกรู้ได้ทางอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และไม่อาจถูกทำลายได้ จึงได้ชื่อว่า “อมตธาตุ อมตธรรม”
ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่มีการไป ไม่มีการมา ไม่มีการหยุดนิ่ง จึงพ้นจากสังขาร และ พ้นทุกข์
ใจแท้ ๆ ที่เป็นวิสังขาร มีอยู่แล้วในทุกชีวิต โดยไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ใด เพียงแต่ยังมีอวิชชา คือ ความหลงยึดถือสังขาร หรือ ขันธ์ห้า เอามาปิดบังใจแท้ ๆ เสียเท่านั้น
เมื่อสิ้นอวิชชา ก็จะพบใจแท้ ๆ นั้น
แต่ถ้าหลงยึดถือใจ แท้ ๆ นั้น คือ อยากให้เขาว่างเปล่าไม่มีอะไรปรากฏอย่างถาวรตลอดไป ทั้ง ๆ ที่ “ใจ” แท้ ๆโดยปกติธรรมชาติก็เป็นอย่างนั้นอยู่แล้ว เมื่อไปหลงยึดถือใจ จึงเป็นอวิชชา ความโง่ ความหลงยึดถือ มาปิดบังใจแท้ ธรรมแท้ เสียอีก
หายโง่ (อวิชชาดับสนิท) เสียเท่านั้น ใจก็คงเป็นธรรมแท้ หรือ เรียกว่า ใจบริสุทธิ์ หรือ จิตบริสุทธิ์ หรือ นิพพานทันที โดยไม่มีใครต้องทำให้มันเป็นขึ้นมา
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562