ผู้ถาม : สาธุในธรรมค่ะหลวงตา… เหมือนหลวงตาจะรู้ว่าหนูมีการบ้านจะส่ง
เมื่อวานได้มีโอกาสเข้าไปในห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ได้เห็นเหตุการณ์จริงที่พิสูจน์เรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทำให้เตือนสติหนูอีกครั้งว่า คนเราทุกคนตายได้ในทุกขณะ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องของธรรมชาติ เกิดได้กับทั้งคน สัตว์ พืช
และเหตุการณ์ที่หนูเจอมันพิสูจน์คำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ทุกอย่างเกิดแต่เหตุ ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ ตอนนี้หนูเชื่อโดยสนิทใจกับคำสอนของพระพุทธเจ้า กฎระเบียบหรือกฎหมายที่ใช้นาน ๆ ไปอาจจะมีล้าสมัยต้องแก้ไข หรือใช้ได้เฉพาะสังคมหรือประเทศหนึ่ง ๆ แต่คำสอนของพระพุทธเจ้า… ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานเพียงใด ไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน คำสอนของท่านก็เป็นแบบเดิมและไม่มีอะไรมาลบล้างได้ เพราะมันคือกฎของธรรมชาติ
หลวงตา : สาธุ
“ธรรมแท้ ธรรมจริง”
เข้าใจ. แต่ไม่มีเรา ตัวเรา เป็นตัวตนผู้เข้าใจ
รู้แจ้ง. แต่ไม่มีเรา ตัวเรา เป็นตัวตนผู้รู้แจ้ง
สิ้นสงสัย. แต่ไม่มีเรา ตัวเรา เป็นตัวตนผู้สิ้นสงสัย
สิ้นยึดถือ. แต่ไม่มีเรา ตัวเรา เป็นตัวตนผู้สิ้นยึดถือ
พ้นทุกข์. แต่ไม่มีเรา ตัวเรา เป็นผู้พ้นทุกข์ (นิพพาน)
“ธรรมแท้ ธรรมจริง” ได้แก่
สัพเพ สังขารา อนิจจา คือ สังขาร ซึ่งเป็นขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้ว ดับไปเป็นธรรมดา
สัพเพ สังขารา ทุกขา คือ สังขาร หรือ ขันธ์ห้าเป็นทุกข์ทนยาก ต้องแก่ เจ็บ ตาย
สัพเพ ธัมมา อนัตตา คือ ธรรมทั้งมวลทั้งที่เป็นสังขาร และ
วิสังขาร (ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ ไม่มีตัวตนรูปลักษณ์ ไม่เป็นอนิจจัง ไม่เป็นทุกข์ คือ เป็นธรรมชาติที่ไม่ถูกบีบคั้นให้ถึงซึ่งความเสื่อม ความแก่ ความเจ็บ ความตาย) ไม่ใช่ตัวตนคงที่ ไม่ใช่เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงไม่อยู่ความบังคับของเราที่จะไม่ให้เสื่อมไปสู่ความแก่ ความเจ็บ ความตายได้
สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ คือ ธรรมทั้งมวล ทั้งสังขาร ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และ วิสังขาร ซึ่งเป็นธรรมไม่ปรุงแต่ง ไม่มีอะไรปรากฏ เป็นอนัตตา ไม่อาจยึดมั่นถือมั่นมาเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเราได้ ควรหรือที่เธอจะหลงยึดมั่นถือมั่นมาเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา ทั้ง ๆ ที่ความจริงไม่อาจยึดมั่นถือมั่นได้ เมื่อฝืนความจริงของธรรมชาติ คือ ไปหลงยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่อาจยึดถือได้ ซึ่งเปรียบเหมือนไปหลงรักคนที่เป็นของคนอื่น เธอย่อมเป็นทุกข์ทั้งในปัจจุบัน อนาคต และ ในชาติต่อ ๆ ไป
“เข้าใจ” หมายถึง เข้าใจในสัจธรรม ความเป็นจริงของธรรมชาติฝ่ายปรุงแต่ง (สังขาร) ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา และ ธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร) ว่าเป็นอนัตตา ไม่อาจยึดถือได้ว่าเป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา
“รู้แจ้ง” หมายถึง ทั้งรู้และเห็นด้วยใจ ในสัจธรรมความจริงของสังขาร และ วิสังขารในปัจจุบันขณะจริง ๆ ไม่ใช่จำได้ หรือ หลงคิดเอาเอง
“สิ้นสงสัย” หมายถึง เมื่อเข้าใจ รู้แจ้ง รู้จริงจนถึงใจ
“สิ้นยึดถือ” จึงสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น
“พ้นทุกข์” เมื่อสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น จึงสิ้นกิเลส ตัณหา พ้นทุกข์ (นิพพาน)
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2562