ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาค่ะ 04:18-05:50 น. ตื่นนอน สติรู้ที่ใจ ไม่ต้องพยายามมาก แค่ระลึกรู้ตรงจิตหลงคิด จิตก็ทวนเข้า (ฐาน) ใจ จิตรู้ก็ปรากฏ ครั้งแรก ๆ ก็มีเจตนาทวนเข้าหาผู้รู้ แต่พอพบจิตรู้แล้วที่เคยรู้จักแล้ว มันก็ทำต่อเอง คือ พอเห็นจิตหลงคิดเพียงแว็บ มันก็ทวนหาผู้รู้เอง เกิดอาการซูซ่า ๆ นิด ๆ รู้เห็นเช่นนั้นอยู่หลายขณะ แต่ปัญญาเดินต่อไม่ได้ กลายเป็นง่วงหลับ ตื่นมารู้อย่างนั้นอีก แต่รู้ว่า รู้แบบกระท่อนกระแท่น เบลอ ๆ มัว เพราะอาการง่วงซึมมากกว่า (ถีนมิทธะ) ไม่ผ่องใสไม่ชัดเจนไม่ต่อเนื่องเหมือนครั้งก่อน ๆ ทุกอาการใจก็แค่รู้ อย่างที่มันเป็น ใจไม่ดิ้นรนเดือดร้อน
เมื่อออกจากภาวนานั้นมาแล้วพิจารณาว่า อะไรเป็นอะไร ทำไมเดินปัญญาต่อไม่ได้ รู้ว่า เพราะกำลังสมาธิไม่พอ แล้วพอถึงสภาวะละเอียด ๆ อารมณ์มีไม่มาก เป็นอารมณ์เดิม ๆ ซำ้ ๆ ที่จิตเคยเห็นแล้ว คือ สิ่งที่เกิดและดับ ซึ่งกิเลสคืออวิชชาตัณหา ไม่ชอบ ไม่สนใจ จึงปล่อยอาวุธ ออกอาการง่วงซึมเบลอมาปกคลุมจิต
กราบขอคำแนะนำจากหลวงตาค่ะ ด้วยความเคารพอย่างสูงค่ะ
หลวงตา : เมื่อพบ “ใจ” หรือ ธาตุรู้ที่ไม่ปรุงแต่ง (วิสังขาร) หรือ จิตเดิมแท้ แล้ว
***** การปฏิบัติ มันจะกลับด้านของมันเอง คือ
ใจหรือธาตุรู้ที่ไม่ปรุงแต่ง จะไม่คิด หรือ ปรุงแต่ง ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหว ไม่มีอาการกระดุกกระดิก หรือ กระเพื่อมใด ๆ เลย เป็นความสงบ เงียบ สงัดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติด้วยคุณสมบัติของธาตุรู้ของเขาเอง
ไม่มีใครบังอาจไปปรุงแต่งหรือทำความพยายามอย่างใด ๆ เพื่อให้เขาเป็นธรรมชาติที่เป็นวิสังขาร ที่ไม่อาจคิด หรือปรุงแต่งได้ เป็นธรรมชาติที่ว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากความปรุงแต่ง หรือ ว่างเปล่าจากกริยาอาการ
เป็นความสงบ … เงียบ … สงัด … สันติอย่างยั่งยืนเป็นปกติธรรมชาติของเขาเอง
เขาไม่มีสิ่งใดปรากฏให้ยึดติดยึดถือได้ และ
เขาไม่มีตัวตน จึงไม่ใช่เป็นเรา เป็นตัวเรา หรือเป็นของเรา
เขาจึงเป็นธาตุรู้ หรือ เป็นธรรมธาตุที่เป็นอิสระ
ไม่ต้องพึ่งพาความรู้จากที่ใด ไม่เกิด ไม่ดับ ไม่แตกทำลาย ไม่มีการตาย ไม่มีการไป ไม่มีการมา
จะเอาเขาไปคิดหรือปรุงแต่งยึดติดยึดถือก็ไม่ได้ เพราะเขาเป็นวิสังขาร คือ เป็นธรรมชาติ หรือ ธรรมธาตุ ที่ได้แต่
แค่รู้ซื่อ ๆ หรือ สักแต่ว่ารู้เท่านั้น ไม่มีตัวตน ไม่อาจคิดหรือปรุงแต่ง จึงไม่อาจมีกริยาอาการที่ยึดติดยึดถือ และ
ไม่อาจทำกริยาอาการปล่อยวางได้
ซึ่งแต่เดิมฝึกสติ สมาธิ ปัญญาในขันธ์ห้า คือ เพียรมีสติ รู้ ละ ปล่อย วาง
จนพบ “ใจ” (วิสังขาร) ซึ่งเป็นธาตุรู้ หรือ ธรรมธาตุที่ไม่สังขาร ไม่มีตัวตน ไม่มีรูปร่าง ไม่มีตัวจิต ตัวใจ
เป็นความรู้แจ้งในสัจธรรม (ความจริงของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ) รู้สิ้นหลง รู้ตื่น รู้เบิกบาน
เป็นธาตุรู้ที่ว่างเปล่าเหมือนดังความว่างของธรรมชาติหรือจักรวาล แทรกซึมอยู่ในธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง)
*** “ธาตุรู้” ไม่ใช่ความว่าง (อากาศ)
แต่อยู่รวมกับความว่าง จึงรู้จักความว่าง
รู้จักว่าอะไรเป็นสังขาร
รู้จักว่าอะไรเป็นวิสังขาร
แต่ก็ได้แต่รู้เท่านั้น
ไม่อาจยึดติดยึดถือใจ หรือ จิตเดิมแท้ หรือ ธาตุรู้ หรือ ธรรมธาตุ ว่า เราหรือตัวเราเป็นคนรู้ หรือ ผู้รู้เป็นเรา ตัวเรา หรือ ของเรา ได้
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562