ผู้ถาม : กราบเรียนหลวงตา ส่งการบ้านเรื่องสมถะเจ้าค่ะ
ลูกสังเกตว่า ในการเริ่มต้นแต่ละครั้ง มันเริ่มด้วยการรู้ลมหายใจเข้า-ออก จริง แต่อาการของสมาธิที่เกิดขึ้น มันไม่เคยเหมือนเดิมเลย บางครั้งหนาว ขนลุกชัน บางครั้งเป็นเย็นๆ ตรงคอ-บ่า บางครั้งเบามาก เหมือนตัวพองออก บางครั้งเหมือนตัวยืดยาวออกไปได้ หรือ พองดันออกทุกทิศทาง
แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่มีใครไปอะไรๆ กับสิ่งเหล่านั้น มันจะต่างจากเดิมที่มันมีใจไปอะไรๆ กับสภาวะที่เกิด แต่อันนี้มันอยู่ตรงกลาง คือ ชัดและตั้งมั่นในการรู้ ไม่ไหลตาม และไม่เพ่งเจ้าค่ะ
และสังเกตอีกอย่าง คือ รู้ยังไงก็ตาม จนถึงลมหายใจดับ สภาวะดับ นิ่งรู้สว่างว่าง แต่ผู้รู้ผู้พูดกลับไม่ได้ดับไปด้วย ยังมีปรากฏอยู่ แต่มันปรากฏเหมือน น้ำมันที่แยกชั้นกับน้ำ คือมันไม่ได้เข้ามารวมในใจ มันก็พูดพากษ์ของมันไปอย่างนั้นเอง แต่ใจไม่ได้เป็นสิ่งนั้น
มันเกิดดับเป็นหยดน้ำบนใบบัวจริงๆ เลยเทียบเคียงว่า
อันนี้เป็น อุเบกขา คือ ความเป็นกลางต่อสภาวะทั้งหมดที่เป็นสังขาร โดยเฉพาะสังขารจิต และสังขารผู้รู้ ใช่ไหมเจ้าคะ
แต่มันจะเป็นสิ่งที่เกิด จากเหตุคือสมาธิ มันจึงอาจจะไม่ได้ถาวร และเสื่อมได้ ต่างจากอุเบกขาสัมโพชฌงค์ที่เกิดจากปัญญา เป็นธัมมวิจจัยะ ไปเรื่อยๆ จนถึงโพชฌงค์ตัวสุดท้าย คือ อุเบกขา คือนิพพาน
เลยสอบถามความเข้าใจกับหลวงตาอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดเจ้าค่ะ
แต่ถึงจะอุเบกขาจากสมาธิก็ตาม แต่มันก็พลิกเป็นปัญญาได้ เพราะมันพลิกเห็นได้ว่า ผู้รู้ไม่ใช่เรา ผู้พูดผู้พากษ์เป็นเพียงกระแสที่พัดผ่านไปมาเท่านั้น และมันเห็นชัดกว่าตอนที่เดินจิตเห็นจิตเสียด้วยซ้ำ
เพราะมันเห็นจิตผู้รู้ราวกับตาเห็นรูปเลย แต่ต้องพลิกเป็น คือ พลิกจากรู้ด้วยสติสัมปชัญญะ เป็นรู้ด้วยมุมมองของปัญญา
เครื่องมือ 2 อันนี้ รู้เหมือนกัน แต่ต่างกันนิดหน่อยในสภาวะจิต
ลูกรู้สึกว่า เส้นทางที่เดิน สังสารวัฏ-สังขาร-สมาธิ-ปัญญา มันเป็นเส้นทางที่ยอกย้อน และวนไปวนมา เดี๋ยวเดินทางนี้แล้วก็กลับไปทางนั้น เดี๋ยวกลับสู่การเดินสมาธิ เดี๋ยวพลิกกลับเป็นปัญญา เดี๋ยวกลับไปเห็นความสลดสังเวชโลก วนไปแบบนี้เจ้าค่ะ แต่มันก็ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ
หลวงตา : สาธุ
“พุทธศาสนา” เป็นประสบการณ์ตรงที่ได้รับการชี้แนะอบรมสั่งสอนมาจากพระพุทธเจ้า และ พระอริยสงฆ์ จนรู้แจ้งออกมาจากใจจริงๆ ไม่ใช่เกิดจากสัญญาที่เล่าเรียนเขียนอ่านท่องจำได้ แล้วจำเอามาพูดบอกสอนต่อกัน
เมื่อจำคำสอน (ปริยัติ) ได้แล้ว จะต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผลขึ้นจริงแก่ใจ จนกว่าจะสิ้นความหลงยึดมั่นถือมั่น สิ้นกิเลสตัณหา และความทุกข์
ต้องค่อยๆ สังเกตุเรียนรู้ด้วยสติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร ขันติ จากประสบการณ์จริง ก็จะทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งเข้าใจแจ่มแจ้งถึงใจมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนำไปชี้แนะบอกสอนจากประสบการณ์จริงๆ จึงจะได้ชื่อว่ารักตน รักผู้อื่น เมตตาตน เมตตาผู้อื่นตอบแทนคุณของพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์ รักษาพระพุทธศาสนาไว้ได้
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2563