ผู้ถาม : หลวงตาครับ ตอนนี้ผมมีคนไข้มะเร็งระยะสุดท้ายอยู่คนหนึ่ง เขาเป็นมะเร็งที่กระจายไปเต็มปอด ทำให้มีอาการเหนื่อยหายใจไม่ทัน เท่าที่ผมได้คุยกับเขาและสังเกตดูเขา ช่วงหนึ่งคิดว่าเขาก็ได้ปฏิบัติธรรม ฝึกฝนมาบ้างหรือเตรียมตัวตายมาบ้างแล้ว เพราะช่วงที่เขาไม่ได้เหนื่อยมากก็ดูเขาสงบดี ไม่ทุรนทุราย แต่พอช่วงที่เหนื่อยมากๆ เขาก็กระสับกระส่ายมาก ผมได้ถามและคุยธรรมะกับเขา เขาก็ตอบว่าช่วงที่เวทนาไม่รุนแรงก็พอรับมือได้ แต่พอเวทนาแรงคือเหนื่อยจนร่างกายอยู่นิ่งไม่ไหว ตอนนั้นก็ไม่มีสติปัญญาเลย มันจ้องพยายามจะหายใจให้ได้อย่างเดียว เวทนามันบีบคั้นรุนแรง ได้ฟังประสบการณ์ของผู้ป่วยรายนี้แล้ว ก็สงสัยอยากถามหลวงตาว่า ในช่วงที่เป็นระยะสุดท้ายของชีวิต หากเราไม่เคยฝึกฌานมาก่อนจะรับมือกับเวทนาอย่างไร แล้วพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ท่านพ้นทุกข์แล้ว คือไม่ยึดถือตัวจิตตัวใจแล้ว ท่านอยู่กับเวทนาในช่วงสุดท้ายของการแตกดับขันธ์อย่างไรครับ จะมีอาการทุรนทุรายอยู่อีกหรือเปล่าครับ
สุดท้ายผมจะแนะนำคนไข้รายนี้อย่างไรดีครับ
เลยบอกเขาว่า ช่วงที่เขาพอรับมือได้ก็ให้น้อมดูความไม่เที่ยงของร่างกายและจิตใจไป แต่ช่วงไหนทนไม่ไหวผมก็จะฉีดมอร์ฟีนให้ไปก่อนเป็นช่วงๆ แต่อาจจะขาดสติ มีเคล้ิมบ้างจากฤทธิ์ยาครับ
กราบหลวงตาอย่างสูงครับ
หลวงตา :
1. หายใจเข้าบริกรรมว่า “พุท” หายใจออกบริกรรมว่า “โธ” ปล่อยวางลมหายใจไปเรื่อยๆ ในขณะเดียวกัน
2. ปล่อยวาง “จิต” คือผู้รู้ลมหายใจ ซึ่งจะคิดปรุงแต่งตลอดเวลา เกิดดับใน “ใจ” ตลอดเวลา ดับไม่ได้ห้ามไม่ได้
3. มีสติอยู่กับ “ใจ” ไม่เกิดดับ ไม่มีอะไร ไม่ปรากฏอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไร ไม่เอาอะไร ไม่เป็นอะไร
เลือกไฟล์เสียงที่เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่โดนใจหมอให้เขาฟังด้วย
ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563