ผู้ถาม : กราบนมัสการหลวงตาเจ้าค่ะ หนูกราบขอโอกาสถามเจ้าค่ะ ใจเป็นความไม่มีอะไรเลยมันก็เลยความเงียบ สงบ สงัด แต่ปกติเมื่อมัวแต่วุ่นวาย ทำอะไรให้เป็นอะไร เป็นสังขาร มันก็เลยไม่รู้สึกถึงความเงียบอันนี้ แต่พอสังขารหยุดปรุงแต่งชั่วคราว ก็เลยพบความเงียบสงบสงัดอันนี้ได้ ที่หนูสงสัยคือจริงๆ แล้ว ความเงียบสงัดที่สัมผัสได้ มันเป็นใจหรือว่ามันเป็นเพราะสังขารมันหยุดปรุงแต่งเจ้าคะ หลวงตาบอกว่าเราเอาขันธ์ห้าไปเห็นใจไม่ได้ เพราะใจไม่มีตัวตน มันเป็นความไม่มีอะไร ถ้าเป็นแบบนั้นแล้ว สิ่งที่มันเงียบสงัดเสียงแห่งความเงียบที่รู้ได้ มันคือสิ่งที่ถูกรู้หรือคืออะไรเจ้าคะ หรือเป็นเพราะขณะที่สังขารหยุดปรุงแต่งจึงกลายเป็นใจ ในขณะนั้นเองใจจึงสัมผัสกับความไม่มีอะไรที่เงียบสงบได้ กราบขอความเมตตาช่วยอธิบายให้ความกระจ่างเจ้าค่ะ หลวงตา : ความเงียบ สงบ สงัด เป็นเพราะสิ้นความหลงคิดปรุงแต่งดิ้นรนทะยานอยาก (ตัณหาดับ) ใจจึงไม่ทุกข์ หรือสิ้นกิเลสชั่วคราว เรียกว่า “ตทังควิมุตติ” คือ พ้นทุกข์เป็นขณะที่ไม่มีตัณหา แต่ความยึดเป็นตัวเรา ของเราซึ่งเป็น “อวิชชา” ยังมีอยู่ ก็จะมีความอยาก ความยึดขึ้นมาเป็นขณะๆ อีก จนกว่าจะสิ้นอวิชชา ตัณหา อุปาทาน คือ ไม่ยึดจิต หรือใจผู้รู้เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงจะสิ้นผู้ยึด สิ้นกิเลสตัณหา จึงจะนิพพาน ผู้ถาม : เข้าใจแล้วเจ้าค่ะ มันคือสภาวะของนิพพานชั่วขณะ ถ้าหลงไปอยากได้อยากเป็นแบบนั้นอีก ก็จะกลายเป็นสังขารใหม่อีกรอบหนึ่ง กราบขอบพระคุณหลวงตาเจ้าค่ะ ปุจฉาวิสัชชนาเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2563