ผู้ถาม : กราบค่ะหลวงตา เพิ่งกลับเข้ามาจากเดินจงกรมค่ะ ข้อธรรมที่หลวงตาส่งมา ทำเอาหนูเอ่อล้นที่ใจเลยค่ะ (ล้นจริง ๆ ค่ะ) หนูเข้าใจเลยค่ะ
ดังนั้นในการพิจารณา “บางสิ่งผุดขึ้นมาสู่ ภูมิรู้ของจิต” ก็จะมาเป็นธรรมชาติของเขาเองเลยนะคะ เราไม่ต้องยืนรอว่าเมื่อไหร่ฝนจะตกนะคะ เพราะถ้าฝนจะตก เดี๋ยวฝนก็ตกเองค่ะ แบบนี้นะคะ
หนูเข้าใจเลยค่ะว่าทำไม หลวงปู่ดูลย์ ถึงใช้คำว่า “พฤติแห่งจิต” และที่หลวงตาสอนไว้ตอนแรกที่พบหนูว่า “สิ่งหนึ่ง สิ่งใด เกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา”
สิ่งต่าง ๆ สภาวะต่าง ๆ ไม่ว่า “หยาบ-ละเอียด” สิ่งที่เป็นคู่ บุญ-บาป กุศล-อกุศล และที่อธิบายไม่ได้ ล้วนคือ “พฤติของจิต” และ “สิ่งหนึ่ง สิ่งใด”
เพราะ “ทุกสิ่งอาจจะต่างกันที่สมมุติ แต่ในธรรมเสมอกัน” เลยพิจารณาแบบเดียวกันใช่ไหมคะ
กราบแบบเอ่อล้นเลยค่ะหลวงตา
หลวงตา : ผู้ใดรู้เห็นจากใจจริง ๆ ว่า “ยังกิญจิ สมุทะยะธัมมัง สัพพันตัง นิโรธะธัมมันติ” สิ่งหนึ่ง สิ่งใด (สังขาร) เกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งหมดนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา”
ก็จะเรียกว่ามี “ดวงตาเห็นธรรม” คือ พระโสดาบัน
***** แต่เพราะยังหลงยึดถือว่า เราเป็นผู้รู้ ผู้เห็น หรือ ผู้รู้ ผู้เห็นเป็นตัวเรา จึงมีตัวเราหลงยึดถือ “ผู้รู้” ว่าเป็นนิพพาน
เมื่อมีสติ ปัญญา รู้เท่าทันความหลงยึดถือ โดยรู้เห็นจากใจว่าความหลงยึดถือว่า เราเป็น.. หรือ เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา นั้น เป็นเพียงสังขาร หรือ ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็จะสิ้นหลงยึดถือเอาสังขารที่คิดปรุงแต่งนั้น มาเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเราจริง ๆ จัง ๆ
คงมีแต่เพียง “รู้” สักแต่ว่า “รู้”
ซึ่งเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติ เป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุรู้บริสุทธิ์ จิตบริสุทธิ์ หรือ ใจบริสุทธิ์........
เพราะไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และผู้รู้ ผู้เห็น
จึงไม่มีผู้ทุกข์ (นิพพาน)
“นิพพาน” ไม่ใช่สภาวะใด ที่มีตัวเราไปถึง ไปได้ ไปเป็น
แต่เป็นเพราะไม่มีตัวตนของผู้ยึดถือทั้งสิ่งที่ถูกรู้ และ ผู้รู้
จึงไม่มีกิเลส ตัณหา และ ผู้ทุกข์
เรียกว่า “นิพพาน”
แต่ถ้ามีความเห็นผิด ว่า “นิพพาน” เป็นสภาวะใด ๆ เช่น เป็นความว่าง ความสว่าง ความสุข ความสงบ เงียบ สงัดเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ
ก็จะมีตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นตัวตนของเรา อยากเอา อยากได้ อยากเป็น อยากถึง อยากบรรลุนิพพาน คือ ถึงสภาวะที่คาดหมายไว้นั้น
เมื่อมีเรา หรือ ตัวเราหลงยึดถือ จึงเป็นอวิชชา ตัณหา
อุปาทาน ..... และความทุกข์ทั้งมวล
***** ดังนั้น นิพพาน คือ
ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา เป็นผู้ยึดถือทั้งสังขาร ซึ่งเป็นสิ่งเกิดดับ และ วิสังขาร (ธรรมชาติไม่เกิดดับ)
ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา เป็นผู้ยึดถือแม้ธรรม และ นิพพาน
ไม่มีตัวตน ซึ่งเป็นเรา ตัวเรา ตัวตนของเรา เป็นผู้ยึดถือความไม่ยึดถือ
เมื่อไม่มีผู้ยึดถือ จึงไม่มีผู้ทุกข์ เรียกว่า “นิพพาน”
โอวาทธรรมหลวงปู่ดูลย์ อตุโล
"การรู้โดยไม่คิดเอง
คือ การเดินวิปัสสนาที่ละเอียดที่สุด
ตราบใดที่ยังเห็นว่า...
จิต คือตัวเรา เป็นของ ๆ เรา
ที่ต้องช่วยให้จิตหลุดพ้น
ตราบนั้นตัณหา หรือ สมุทัยก็จะสร้างภพ
ของจิตว่างขึ้นมา ร่ำไป
ขอย้ำว่า ขั้นนี้
จิตจะดำเนินวิปัสสนาเอง
ไม่ใช่ ผู้ปฏิบัติจงใจกระทำ
ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่า
ไม่มีใครเลย ที่จงใจ
หรือ ตั้งใจบรรลุมรรคผลนิพพานได้
มีแต่จิต เค้าปฏิบัติตนเอง ไปเท่านั้น
เมื่อ… จิตทรงตัวรู้ แต่ไม่คิดอะไรนั้น
บางครั้ง จะมีบางสิ่งผุดขึ้นมา
สู่ ภูมิรู้ของจิต
แต่จิต ไม่สำคัญมั่นหมายว่า มันคืออะไร
เพียงแค่รู้ เฉย ๆ
ถึงความเกิด-ดับนั้น เท่านั้น
ในขั้นนี้
เป็นการเดินวิปัสสนา ขั้นละเอียด ที่สุด
ถึงจุดหนึ่ง จิตจะก้าวกระโดดต่อไปเอง
การเข้าสู่มรรคผลนั้น
รู้ มีตลอด
แต่ ไม่คิด และ ไม่สำคัญมั่นหมาย
ในสังขารละเอียด ที่ผุดขึ้นมานั้น
เมื่อ จิตถอยออกจากอริยมรรค
และ อริยผลที่เกิดขึ้นแล้ว
ผู้ปฏิบัติจะรู้ชัดว่า ธรรมเป็นอย่างนี้
"สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นต้องดับไป"
ธรรมชาติบางอย่าง มีอยู่
แต่ก็ไม่มีความเป็นตัวตน สักอณูเดียว
นี้เป็นการรู้ธรรมในขั้นพระโสดาบัน
คือ ไม่เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
แม้แต่ตัวจิตเอง
เป็นตัวเรา
แต่ความยึดถือ ในความเป็นเรา
ยังมีอยู่
เพราะ… ขั้นความเห็น กับ ความยึดนั้น
มันคนละขั้นกัน"
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2563