ผู้ถาม : จากโอวาทธรรมของ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง
ที่มา : เรื่องปัจจุบันธรรมเป็นธรรมโม ในหนังสือหลวงปู่แหวน สุจิณโณ ของ กฟผ
"รู้… อยู่ที่เดียว
สติสัมปชัญญะ - สัมมาสติก็อันเดียวกัน นั่นล่ะ
มีหน้าที่กำหนดรู้
ที่เกิด ของธรรม ที่ดับ ของธรรม
รู้... อยู่ที่เดียวนี้ล่ะ
ละ อยู่ที่เดียวนี้ล่ะ
วาง อยู่ที่เดียวนี้ล่ะ
การปรารภความเพียร ก็เอาสตินี้ล่ะ
เวลาเกิดความคับขัน ก็ให้น้อมเข้ามา
ปฏิบัติอยู่...
ให้เพียรเพ่งอยู่จนหายสงสัย
อันนี้ สำคัญมาก
เพ่งเข้ามาสู่จิต สู่ใจ
อย่าไปเพ่งออกภายนอก
เพ่งจนหายสงสัย
จนไม่มี เกิด ไม่มี ดับ
พราหมณาจารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
เพียรเพ่งอยู่จนมันดับไปเอง
แม้… เกิดขึ้นแล้ว มัน ก็ดับไปเอง
แต่อย่าเข้าไปยึดถือในอะไร ๆ
สิ่งที่มันปรุงขึ้น แต่งขึ้น มักจับมัน ไม่ทัน
ให้เพ่งจับอยู่เฉพาะในปัจจุบัน
อย่าไปเพ่งอดีต - อนาคต
อดีต เป็นธรรมเมา
อนาคต เป็นธรรมเมา
พราหมณาจารย์ผู้มีความเพียรเพ่งอยู่
เพ่งอยู่ภายใน ต้องเพ่งเข้าสู่ภายใน
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเมื่อเกิดขึ้น
มัน ก็ดับไปเอง
อย่า เข้าไปยึดถือสำคัญมั่นหมาย
ว่า เป็นสิ่งนั้น ว่า เป็นสิ่งนี้
เพ่งอยู่… จนหายสงสัย
ถ้าหายสงสัย มันก็ได้บรรลุมรรคผล - นิพพาน
เท่านั้นล่ะ
การเพ่ง...
อย่า ให้มันออกไปข้างนอก
ให้เพ่งเข้ามาหาใจ
ให้เข้าสู่… ใจ
ให้เข้าสู่… ฐิติภูตัง
ให้ตั้งอยู่… ในธรรม
อันไม่ไป ไม่มา ไม่เข้า ไม่ออก"
______________________________________
หลวงตาเจ้าคะ ที่หลวงปู่แหวนท่านกล่าวว่า "เพ่งมาสู่จิตใจ เพ่งอยู่... จนหายสงสัย" หมายความว่ายังไงเจ้าคะ เพ่งอะไร จนหายสงสัยอะไรเจ้าคะหลวงตา
ขอหลวงตาโปรดเมตตาด้วยเจ้าค่ะ
หลวงตา : “เพ่งมาสู่จิตใจ” หมายถึง อย่าถอนความสังเกตที่ใจ จนกว่ารู้ เห็น รู้เท่าทันว่ามีความยึด ความอยาก (กิเลส ตัณหา อุปาทาน) อย่างใด ๆ ต่อสิ่งภายนอก ภายในร่างกาย ภายในจิตใจ ในปัจจุบันขณะบ้าง
จะสิ้นยึด สิ้นอยาก ต้องเห็นว่าร่างกายและจิตใจเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จนหมดสิ้นกิเลส หรือ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ก็ไม่มีตัวตนของผู้ทุกข์ (นิพพาน)
***** “อวิชชา ตัณหา อุปาทาน” ล้วนเป็นสังขารปรุงแต่ง
หากรู้ เห็น รู้เท่าทันสังขารในใจตน ซึ่งเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในปัจจุบันขณะ จนสิ้นหลงสังขาร หรือ สิ้นยึดถือสังขาร
ก็จะพบใจ ซึ่งเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติ
***** มีคุณสมบัติ “รู้” ... แต่ไม่มีตัวตนของผู้รู้… ได้แต่รู้ปัจจุบันขณะ… ซึ่งเป็นคุณสมบัติของธาตุรู้ตามธรรมชาติที่ได้แต่รู้ ไม่มีตัวตนของผู้รู้ ไม่มีตัวเราเป็นผู้รู้ และ ผู้รู้ไม่ใช่ตัวเรา
แต่เพราะมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) และ อวิชชา (ความไม่รู้) จึงหลงยึดมั่นถือมั่น ว่าเราเป็นผู้รู้ หรือ ผู้รู้เป็นตัวเรา จึงหลงยึดถือว่าเป็นของเรา
จึงเป็นเหตุให้เกิดกิเลส ตัณหา จนเป็นความทุกข์เดือดร้อนในปัจจุบัน ในชาตินี้ และชาติต่อ ๆ ไป
เมื่อไม่มีตัวตนของผู้รู้ จึงไม่มีตัวตนของผู้ยึด
เมื่อไม่มีตัวตนของผู้ยึด ก็ได้แต่รู้ ซึ่งเป็นธาตุรู้ตามธรรมชาติที่มีคุณสมบัติได้แต่รู้ปัจจุบันขณะ จึงไม่มีผู้ทุกข์ (นิพพาน-ซึ่งไม่มีตัวตนของผู้ถึงนิพพาน)
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2563