ผู้ถาม : กราบหลวงตาเจ้าค่ะ ขอเมตตาหลวงตาให้ความกระจ่างระหว่าง "รู้" กับ "รู้สึก" เจ้าค่ะ
หลวงตา : “ความรู้สึก” ที่เป็นเวทนา คือ ความรู้สึกเป็นสุข ความรู้สึกเป็นทุกข์ ความรู้สึกเป็นกลาง ๆ เป็นอารมณ์ หรือ อาการที่ถูกรู้ จัดเป็นธรรมารมณ์ คือ อาการที่ถูกรู้ทางใจ
“ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สติ สัมปชัญญะ) เป็นสังขารในขันธ์ห้า คือ ความรู้ตัว รู้สึกตัว หรือ ความไม่ขาดสติ สัมปชัญญะ หลงเหม่อเผลอเพลิน หรือ ไม่หลงส่งจิตออกนอกติดไปกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ในขณะที่มีการกระทบ หรือผัสสะในปัจจุบันขณะ
“รู้” ที่เป็นวิญญาณในขันธ์ห้า เป็นสังขาร หรือ อาการปรุงแต่ง ทำหน้าที่รู้รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีความเกิดดับเร็วมาก ๆๆ ....
“รู้” ที่เป็นวิญญาณธาตุ ที่ยังมี “อวิชชา” มาผสมกับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เกิดเป็นขันธ์ แล้วหลงยึดถือขันธ์ห้าเป็นตัวตน เป็นเรา เป็นตัวเรา เป็นของเรา หรือ หลงยึดถือว่ามีตัวเราอยู่ในขันธ์ห้า หรือ หลงยึดถือวิญญาณธาตุ ว่าเป็นเรา เป็นตัวเราเป็นของเรา
ดังนั้น รู้ที่มีอวิชชาผสมอยู่ จึงเป็นสังขาร คือ อาการปรุงแต่งยึดถือ จึงเกิดดับได้
“รู้” ที่เป็นวิญญาณธาตุที่ไม่มีอวิชชาแล้ว เป็น “วิสังขาร” ไม่มีตัวตนของผู้รู้ ไม่มีอาการของผู้รู้ ไม่ปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ เรียกว่า “รู้บริสุทธิ์” หรือ “นิพพาน”
หมายเหตุ; ความปรุงแต่งอย่างใด ๆ เพื่อให้เป็น “รู้บริสุทธิ์” หรือจะยึดถือเอา “รู้บริสุทธิ์” มาเป็นของเรา จะเป็นการหลงเอาสังขารมาปรุงแต่งเป็นตัวเป็นตน เป็นเรา เป็นตัวเรา มาปรุงแต่งเป็นความพยายามยึดมั่นถือมั่น “รู้บริสุทธิ์ หรือ นิพพาน”
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563