ผู้ถาม : ขอโอกาสกราบเรียนหลวงตาครับ ผมอ่านข้อธรรมที่หลวงตาสนทนาธรรมกับคุณโยม (ผมไม่แน่ใจว่าเป็นคุณหมอหรือเปล่าครับ ขออภัยด้วยครับ) เบื้องต้นผมขอกราบพระคุณต่อองค์หลวงตา ด้วยความน้อบน้อม ขอขอบพระคุณคุณหมอ และขอขอบคุณท่านที่สนทนาธรรมกับหลวงตามาก ๆ ครับ ที่ได้ถ่ายทอดธรรมที่ออกใจอันบริสุทธิ์ไว้ให้คณะศิษยานุศิษย์ได้อ่าน ได้ฟัง ได้พิจารณาครับ
เรื่อง “ความเข้าใจเรื่อง ‘อวิชชา’ และ ‘อริยสัจ 4’ (1/2)” ผมอ่านมาถึงประโยคที่ว่า
***แท้จริงน่ะ... ตัวตนไม่มีอยู่จริงหรอก เพราะว่ามันเกิดแล้วก็ดับพร้อม... เกิดแล้วก็ดับพร้อม... เมื่อ “สติ” มีอยู่ ถ้ามันมีตัวตนอยู่จริงนะ เรามีสติให้ตายมันก็ไม่ดับ
พอมันเกิดความมีตัวตนเข้าไป
“เห็น” มีตัวตนเข้าไปร่วม
“ได้ยิน” มีตัวตนเข้าไปร่วม
"ไปรู้" อาการทางใจ มีตัวตนเข้าไปร่วม
พอสติมาพร้อมปุ๊บ ! มันดับพร้อมเลย !! มีตัวตนเข้าไปยึดถือ มันดับพร้อม
ถ้าตัวตนมันมีคงที่อยู่จริง มันไม่มีทางดับหรอก สติมาก็ไม่ดับ***
ในขณะที่อ่านจบประโยคนี้ มันเกิดความรู้สึกเหมือนอะไรถูกเปิดออกมาจากใจทันทีว่า ไม่มีตัวตน !! (ตรงนี้อธิบายไม่ถูกครับ คือเหมือนเห็นความรู้สึกนี้เข้าไปถึงความไม่มีตัวตนจริง ๆ ด้วยใจ ประมาณนี้ครับ) และในเสี้ยวของขณะจิตนั้นมันจี๊ดเลย ตอนมันจี๊ดเนี่ยครับ มันจี๊ดเข้าไปถึงดวงใจข้างใน แล้วความรู้สึกจี๊ดเนี่ยมันทะลุออกมาถึงหัวใจอันเป็นกายเนื้อข้างนอกเลยครับ ไม่รู้อธิบายยังไงตรงนี้ครับ
พอรู้ถึงการจี๊ดนี้แล้ว ทุกอย่างก็ดับสนิทชะงักหยุดนิ่ง ไปเสี้ยวหนึ่งของขณะจิตนั้น ตอนที่มันดับสนิทเนี่ยครับ เหมือนมันดับลึกมาก ๆ ลึกสุด ๆ เลยครับ แต่รู้อยู่ว่าทุกอย่างดับสนิท ถ้าจะเปรียบเทียบก็เหมือนกับสวิตช์ไฟถูกปิดลงอย่างกระทันทันแล้วทุกอย่างดับสนิท ประมาณนี้ครับ
(ความรู้สึกที่ออกมาจากใจเหมือนอะไรถูกเปิด แล้วจี๊ดขึ้นมา ความดับสนิท การชะงักหยุดนิ่งนั้น ทั้งหมดอยู่ในขณะจิตเดียวกัน มันเร็วมากครับ)
หลังจากนั้นก็รู้สึกงงๆ กับความที่ว่า ไม่มีตัวตน จะอธิบายเกี่ยวกับความที่ว่า ไม่มีตัวตน ก็อธิบายไม่ได้ อธิบายไม่ออก พูดง่าย ๆ คือไปไม่เป็นในขณะที่รู้สึกงงๆ ครับ แล้วทุกอย่างก็กลับสู่ภาวะปรกติครับ
ประโยคที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ช่วยให้เห็นว่าที่ผ่านมาเห็นแต่ความเป็นตัวตนปรากฏ รู้ทันความเป็นตัวตน ตัวตนดับ และเห็นว่าของของตน (คือ ไปหมายเอาไปตู่เอาสิ่งที่รู้ เอามาเป็นของของตน) รู้ทันก็ดับ คือรู้แต่ว่าตัวตนเกิดตัวตนดับอย่างเดียว แต่ไม่ได้รู้เข้าไปถึงความมีตัวตนที่เกิดดับนั้น ว่ามันไม่ได้มีตัวตน พร้อมกันในขณะจิตเดียวกันครับ
ขออนุญาตกราบเรียนส่งการบ้านหลวงตาครับ ขอกราบขอบพระคุณหลวงตาด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงครับ
หลวงตา : “สัจธรรม” ความจริง คือ ไม่มีอวิชชา ไม่มีจิต ไม่มีตัวเรา
“จิต (จิตดั้งเดิมแท้)” เป็นธาตุรู้ (วิญญาณธาตุ) ที่เป็น วิสังขาร
อสังขตธาตุ อสังขตธรรม สุญญตา ซึ่งเป็นความว่างเหมือนกับความว่างอันไม่มีขอบเขตในธรรมชาติ หรือ ในจักรวาล แต่ความว่างในธรรมชาติ ไม่มีความรู้
ส่วน “ธาตุรู้” ซึ่งเป็นจิตหรือใจดั้งเดิมแท้ เป็นธาตุว่างที่มีความรู้ รู้ออกมาเองจากใจ โดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง
จึงปรุงแต่งยึดถือไม่ได้ พยายามปล่อยวางไม่ได้ ปรุงแต่งทำให้เป็นรู้โดยไม่คิด นิ่ง เฉยไม่ได้
(ไม่ใช่ความรู้ที่เป็นสัญญา หรือ ปัญญา ซึ่งเป็น “สังขาร” ไม่ใช่ความรู้สึกว่าง ซึ่งเป็นเวทนา และ ไม่ใช่ความว่างที่ปรุงแต่ง หรือ มโนเอาเอง)
ไม่มีรูปลักษณ์ หรือ กิริยา อาการใด จึงไม่มีความรู้สึกสุข ทุกข์ ผ่องใส เศร้าหมอง สว่าง มืด สงบ เงียบ สงัด นิ่ง เฉย ความรู้สึกว่างเปล่า ซึ่งเป็นเวทนาในขันธ์ห้า
ไม่ใช่สังขาร จึงไม่อาจคิด นึก ตรึก ตรอง ปรุงแต่ง หรือ แสดงอาการ หรือ แสดงอารมณ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสัญญา สังขารในขันธ์ห้า และ ไม่ใช่ “วิญญาญขันธ์” ที่เกิดดับรับรู้ตามทวาร
เมื่อ “วิญญาณธาตุ” มารวมกับธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ (ความว่าง) เกิดเป็นขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นสังขาร เกิดดับ ไม่เที่ยง เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แต่ “วิญญาณธาตุ” เป็นความรู้ที่เป็นความว่าง จึงไม่เกิดดับไปตามขันธ์ห้า
ดังนั้น “วิญญาณธาตุ” แม้จะรวมกับธาตุอื่น ๆ เป็นขันธ์ห้า แต่ต่างหากจากขันธ์ห้า และ ไม่ใช่วิญญาณขันธ์ที่เกิดดับรับรู้ตามทวาร
“วิญญาณธาตุ” ไม่เกิดดับไปตามรูปนามขันธ์ห้า แล้วทำงานร่วมกับขันธ์ห้า โดยเฉพาะกับ “วิญญาณขันธ์” อย่างไร ?
หรือ “วิญญาณธาตุ” กับ “วิญญาณขันธ์” มีหน้าที่ตามธรรมชาติแตกต่างกันอย่างไร ?
ธาตุดิน - ทำหน้าที่เป็นโครงสร้างของร่างกาย และอวัยวะที่เป็นของแข็ง
ทำหน้าที่ตามธรรมชาติแตกต่างกันไปตามอวัยวะต่าง ๆ ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุน้ำ - ทำหน้าที่เป็นน้ำเลือด น้ำลาย น้ำไขมัน น้ำเหงื่อ น้ำปัสสาวะ เป็นต้น
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุลม - ทำหน้าที่เป็นลมหายใจ ลมตด ลมเรอ ลมในท้อง ในใส้ เป็นต้น
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุไฟ - ทำหน้าที่ให้เกิดความร้อน ความอบอุ่น เผาผลาญอาหารให้เกิดพลังงาน เป็นต้น ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
ธาตุอากาศ (ความว่าง) - เป็นช่องว่างเพื่อให้สิ่งต่าง ๆ มีการเคลื่อนไหวได้
ไม่มีการยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้
ทั้งหมดนั้นเป็นส่วนของร่างกาย
เมื่อมี “วิญญาณธาตุ” เข้าผสม ร่างกายนั้น จึงเกิดเป็นนาม คือ เวทนา (ความรู้สึก) สัญญา (ความจำ) สังขาร (ความคิด ความปรุงแต่งอารมณ์ต่าง ๆ) วิญญาณ (การรับรู้ตามทวาร)
เวทนา - ทำหน้าที่เป็นความรู้สึก
ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
สัญญา - ทำหน้าที่เป็นความจำ
ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
สังขาร - ทำหน้าที่คิด นึก ตรึกตรอง ปรุงแต่ง แสดงอาการหรือ อารมณ์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
วิญญาณ - ทำหน้าที่รับรู้ตามทวาร
ตามธรรมชาติไม่มีหน้าที่ยึดถือ หรือ ยึดถือไม่ได้ ไม่เที่ยง ไม่คงที่
***** จะเห็นได้ว่า ธาตุ ขันธ์ (รูป-นาม หรือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) และ อายตนะภายใน (ประตูตา หู จมูก ลิ้น กาย ประตูใจ) เขาทำหน้าที่ตามธรรมชาติของเขาเท่านั้น ไม่มีการยึด
***** ดังนั้น ขันธ์ห้า ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเกิดจากธาตุต่าง ๆ มาผสมปรุงแต่งขึ้นมา จึงไม่ได้เป็น “อวิชชา” และ “นิพพาน”
ส่วนที่เป็น “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ หลงยึดจิตเป็นตัวเรา เป็นของเรา มีมาตั้งแต่กำเนิดจิตขึ้นมาในธรรมชาติ
แต่แม้จะยังหลงยึดจิตดั้งเดิมเป็นตัวเรา เป็นของเรา ซึ่งยังเป็นอวิชชาอยู่ก็ตาม แต่ธรรมชาติของ “จิตดั้งเดิม” ก็คงเป็นธรรมชาติที่เป็นวิสังขาร อสังขตธาตุ สุญญตาธาตุ … ซึ่งเป็นธรรม หรือ ธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาล
เป็นความว่างไม่มีตัว และไม่เป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เป็นหญิง เป็นชาย เป็นนั่น เป็นนี่
ความไม่รู้ (อวิชชา) ใน “สัจธรรม” ความจริงดังกล่าว จึงไม่เห็นว่าความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิง ชาย เป็นนั่น เป็นนี่ เป็นเพียงสมมติ เป็นสังขารปรุงแต่ง มีอยู่ เป็นอยู่ชั่วคราว เกิดขึ้นแล้ว มีความไม่เที่ยง มีความเสื่อม มีความดับไปเป็นธรรมดา และ สังขารทั้งหมด ไม่มีอยู่ในจิตดั้งเดิม ซึ่งเป็นวิสังขาร เป็นสุญญตา
***** ต้องอบรมสติ ปัญญา เพื่อให้รู้เห็นสัจธรรม ความจริงดังกล่าวด้วยใจ ว่าจิต ใจ หรือ วิญญาณธาตุ ตั้งแต่ดั้งเดิม เป็นรู้ออกมาจากใจโดยไม่คิด ไม่ปรุงแต่ง ไม่มีอะไรปรากฏเลย ที่มีสังขารปรากฏ ไม่ใช่ใจที่เป็น วิสังขาร
ตัวตนของเราก็ไม่มี แล้ว “ใจ” ก็จะเป็นความว่าง (ว่างเปล่าจากสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา หญิง ชาย ความเป็นนั่น ความเป็นนี่)
อบรมด้วยโพชฌงค์ 7 คือ ซึ่งเป็นเครื่องส่งเสริม สนับสนุนให้ตรัสรู้ตาม ได้แก่ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยะ (ธรรมะวิจัย) สัมโพชฌงค์ วิริยะ (ความเพียร) สัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
มี “พละห้า อินทรีย์ห้า” ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญาเป็นกำลัง
มี “อิทธิบาท 4” ฉันทะ (ความสนใจ) วิริยะ (ความเพียร) จิตตะ (เอาใจใส่) วิมังสา (วิเคราะห์เหตุผล รู้เหตุแห่งความเสื่อม คือ ขาดสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียร รู้เหตุแห่งความเจริญ รู้สัจธรรม รู้อริยสัจ หรือ ปฏิจจสมุปบาท) อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย
ปฏิบัติตามมรรค 8
มีขันติ (ความอดทน อดกลั้น) ได้แก่ กินน้อย นอนน้อย พูดน้อย ไม่คลุกคลีหมู่คณะ สำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไม่เอาเรื่องโลก ๆ มาสู่ใจ ทำความเพียรให้มาก เพียรให้มีสติ สมาธิ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพียรละบาปกรรมชั่ว (มีหิริ -โอตตัปปะ - ความละอายใจ - ความเกรงกลัวต่อบาป)
ธรรมที่กล่าวมาทั้งหมด จะเป็นสิ่งช่วยให้ใจรู้แจ้งในสัจธรรม
จากความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นความรู้แจ้งจากใจ ว่าทุกสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรที่มีตัวตนเป็นแก่นสารสาระให้ยึดมั่นถือมั่นได้ ไม่ควรหลงยึดมั่นถือมั่น
(สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ)
ความรู้สึกว่า “จิตมีตัว หรือ มีตัวจิต” จะเปรียบเหมือนกับ เวลากลางวัน เดินไปตรงที่นั้นได้ แต่พอเวลากลางคืน ไม่กล้าเดินไปที่ตรงนั้น เพราะรู้สึกว่ามีตัวผี แต่ความจริงตรงบริเวณนั้น ไม่มีตัวผีอยู่เลย แต่หลงคิดปรุงแต่งว่า มีตัวผี จึงเกิดความกลัว เป็นทุกข์
***** ทำนองเดียวกัน
จิต หรือ ใจ หรือ ธาตุรู้เดิมแท้ ไม่มีตัว
“ผู้ยึดจิต” ก็ไม่มีตัว
“ความรู้” ก็ไม่มีตัว และรู้ออกมาจากใจที่เป็นความว่าง ไม่มีตัว
แต่เมื่อมี “อวิชชา” คือ ความไม่รู้ หรือ ความโง่เขลา ก็จะหลงยึดจิต ว่าเป็นตัวเรา หรือ เป็นของเรา
มีตัวเรา จิต ซึ่งเป็นความไม่มีอะไรให้ยึดถือได้ เป็นตัวเรา เป็นของเรา
เหมือนกับบริเวณนั้นไม่มีอะไร (ไม่มีผี) แต่เพราะความไม่รู้ หรือ ความเขลา ก็จะหลงปรุงแต่งผีเป็นตัวตนขึ้นมา ในท่ามกลางความไม่มีอะไร หรือ ในท่ามกลางความว่าง จึงหลงมีตัวเรากลัวผี เป็นความทุกข์
ถ้าไม่หลงปรุงแต่งมีตัวเรา ก็จะไม่มีตัวเรากลัวผี ซึ่งเป็นความทุกข์
เช่นเดียวกัน จิตดั้งเดิมไม่มีตัว เป็นความว่าง แต่หลงปรุงแต่งมีตัวจิตขึ้นมาให้ยึดถือได้ จึงหลงยึดถือจิตเป็นตัวเรา เป็นของเรา
***** ความปรุงแต่งยึดถือจิตดั้งเดิมแท้ เป็นตัวเรา เป็นของเรา ซึ่งเป็น “อวิชชา” เป็นเพียงสังขารปรุงแต่ง เกิดดับอยู่ในจิตดั้งเดิมแท้ ซึ่งเป็น “วิสังขาร” เป็นธรรมชาติว่างเปล่าจากตัวตน ว่างเปล่าจากความปรุงแต่ง ไม่เกิดดับ
อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน ถ้ารวมเป็นเนื้อเดียวกัน จะแยก “อวิชชา” ออกจากจิตเดิมแท้ไม่ได้
ดังนั้น อวิชชา จึงดับไปได้ โดยจะเหลือแต่จิตเดิมแท้บริสุทธิ์ (นิพพาน) ไม่เกิดดับ ว่างเปล่าจากตัวจิต ว่างเปล่าจากสังขารที่ยึดถือเป็นตัวเรา เป็นของเรา
***** ดังนั้น ขณะจิตใด เกิดปัญญาวิมุตติสว่างขึ้นที่ใจ แล้ว ความหลง ความเขลา ความมืดบอด ความไม่รู้ ความโง่ ซึ่งเป็น “อวิชชา” ก็จะดับไป
เปรียบเหมือนความสว่างเกิดขึ้นที่ใจเพียงขณะจิตเดียว ความมืดบอดก็หายไป ฉะนั้น
ความจริงตัวตนของเราก็ไม่มีมาแต่แรกแล้ว ส่วนจิตเดิมแท้ก็ไม่มีอะไรให้ยึดถือได้
แต่เพราะความไม่รู้ หรือ ความโง่ จึงหลงยึดถือจิตดั้งเดิมแท้ที่ไม่มีอะไร เป็นตัวเรา เป็นของเรา จึงหลงมีตัวเรา มาตั้งแต่ชาติแรก
เมื่อหายโง่ (อวิชชาดับ) เพราะรู้แจ้งขึ้นที่ใจว่า มีเพียงจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นวิญญาณธาตุ (ธาตุรู้) ที่ว่างเปล่าจากสังขาร ไม่มีตัวจิต และ ไม่มีตัวเรา ไม่มีสิ่งที่จะให้ยึดมั่นถือมั่นได้
ทั้งตัวตนของผู้ยึดมั่นถือมั่นก็ไม่มี จึงไม่มีผู้มีกิเลส และ ผู้ทุกข์ เรียกว่า “นิพพาน”
ดังนั้น ....
ถ้ามีจิต (มีสิ่งที่ยึดถือได้) ก็มีอวิชชา
ไม่มีจิต ไม่มีอวิชชา
กล่าวได้ว่า “นิพพาน” เพราะหายโง่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
เพราะรู้แจ้งว่า แท้จริงไม่มีตัวจิต ไม่มีตัวเรา ไม่มีของเรา
ดังนั้น จึงไม่ได้มีตัวเราไปถึง ไปได้นิพพานมาเป็นของเราแต่อย่างใด
มีเพียงจิตหนึ่ง (เอโกธัมโม) เรียกว่า “พุทธะ”
ไม่ได้หมายถึงรูปกายของพระพุทธเจ้า แต่หมายถึง
เป็นผู้รู้ - รู้แจ้ง รู้สิ้นยึด รู้สิ้นหลง เพราะรู้สัจธรรม รู้อริยสัจ
ผู้ตื่น - ตื่นจากความหลับใหล หมายถึงอวิชชา ซึ่งเป็นความหลงมายาวนานตั้งแต่ชาติแรก
ผู้เบิกบาน - เพราะสิ้นยึด จึงสิ้นกิเลส สิ้นความเศร้าหมอง พ้นทุกข์ นิพพาน
เป็นธรรมธาตุ เป็นธาตุรู้บริสุทธิ์ เป็นอมตธาตุ อมตธรรม ไม่เกิดดับตลอดกาล
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563