ผู้ถาม : กราบนมัสการองค์หลวงตาเจ้าค่ะ โยมขอส่งการบ้าน เพื่อกราบเรียนสภาวธรรมเจ้าค่ะ
เมื่อวันที่ 13 เมษายน 63 ซึ่งเป็นวันสงกรานต์ โยมได้ปฏิบัติธรรมด้วยการใคร่ครวญธรรม เดินจงกรม นั่งสมาธิ ฟังธรรม และสวดมนต์ตามปกติ
ขณะที่กำลังเดินจงกรมพิจารณาการเกิดดับ โดยตั้งจิตไว้ที่กาย เดินไป ดูกาย ดูจิตไปด้วย เห็นจิตมักหลงไปคิดเร็วมาก ตอนมันดับไป ไปเกิดการคิดนั้น ไปตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ทันรู้ตัว มารู้ตัวตอนที่มันคิดอยู่แล้ว
ก็ตั้งต้นใหม่ แล้วมันก็หนีไปคิดอีก ๆๆ เรื่อย ๆ จะมารู้ตามเอาทีหลังทุกครั้ง ว่ามันไปคิดอีกแล้ว ก็นึกพรวดพราดคิดขึ้นมาได้ว่า จิตนี่... ควบคุมไม่ได้แบบนี้นี่เอง มันไปเร็วมากจริง ๆ แป๊บเดียวไปแล้ว
จึงได้รู้ว่า... เพราะเหตุนี้นี่แหละ จิตมันจึงไม่ใช่ของของเรา มันไม่ใช่เป็นเราจริง ๆ เราจึงควบคุมมันไม่ได้ ถ้ามันเป็นของเรา เราควรสั่งมันได้ซิ นี่ห้ามไม่ให้มันหนีไปคิด มันไม่ฟัง มันไม่แคร์เราเลย สั่งแล้ว มันก็ยังหนีไปคิดอีก นี่แหละที่เป็นเหมือนที่เราเคยศึกษามาว่า จิตมันเกิดเอง ดับเอง เช่นนี้นี่เอง (จิตสังขารมันพูด พากษ์ บ่นเองค่ะ)
อยู่ ๆ ก็มีปัญญาผุดขึ้นมาว่า ความคิดนี้เป็นสังขารปรุงแต่ง ที่เกิดขึ้นมาจากใจ คิดแล้วก็จบลงที่ใจ (คิดถึงคำสอนของหลวงตาขึ้นมา)
คิดต่อไปว่าแล้วใจอยู่ที่ไหน ? มันตอบเองว่า ใจเป็น “วิสังขาร” ไม่มีรูปพรรณสัณฐาน ไม่มีที่ตั้ง แต่มันอยู่ในกายเรานี่แหละ ใจได้แต่ “รู้” เท่านั้น
นึกต่อไปว่าความว่างในจักรวาลเป็นความ เงียบ สงบ สงัด โล่ง ว่าง ไม่เกิด ไม่ดับ มีนกบินไปมา มีเครื่องบินบินไปมา มีโลก มีดวงดาว มีพระอาทิตย์ ลอยไปมาท่ามกลางความว่าง
ใจ ก็ว่างเหมือนดังความว่างในจักรวาล เงียบ สงบ สงัด โล่ง เหมือนดังท้องฟ้า มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด เกิดขึ้นกลางใจ เหมือนนกบินในอากาศนั่นเอง
จึงลองหยุดคิดดู ก็พบความว่างที่ไม่มีอะไร เงียบ สงบ สงัด เหมือนกับความเงียบนอกตัว เงียบแบบเดียวกันกับภายนอกกาย คือ จักรวาล
เอามือลองควานดูความว่างตรงหน้า นี่แหละคือความว่าง ความว่าง ก็คือ ความไม่มีอะไรเลยนั่นเอง ไม่มีอะไรเลย อ๋อ อ๋อ เป็นอย่างนี้นี่เอง เหมือนใจนั่นเอง
ใจ เป็นความว่าง แบบเดียวกันนี้นี่เอง จึงหาใจไม่เจอ มันเป็นความว่างเหมือนจักรวาล
แต่ก็รู้ว่า มันต่างกันตรงที่ ใจมี “รู้“ วิสังขารภายนอกที่เป็นจักรวาลไม่มี “รู้”
โยมก็เฝ้าสังเกตดูต่อไป พิจารณาไปด้วยสังขารความคิด มันก็ยังเกิดดับ ๆ ท่ามกลางใจ ที่ว่างอยู่เรื่อยไป
รู้ขึ้นมาอีกว่า เมื่อไม่คิดอะไร ใจมันเงียบ “ไม่มี” อะไร พอสังขารคิด มันกลายเป็น “มี” ขึ้นมา เมื่อสังขารดับไป ก็กลับเป็น “ไม่มี” เหมือนเดิม เกิด ๆ ดับ ๆ อยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
นี่แหละที่ว่า เมื่อชีวิตยังอยู่ สังขารมันต้องทำงานตามหน้าที่ของมันตลอดเวลา มันเกิดเอง ดับเอง เช่นนี้ ตราบจนวันตายนั่นเอง
หลวงตาสอนว่า ให้รู้ซื่อ ๆ แค่รู้ สักแต่ว่ารู้ตามความเป็นจริง ไม่แทรกแซง ไม่ให้ค่า ไม่ใส่ใจ ไม่ดิ้นรนค้นหา ไม่พยายาม เพราะนั่นคือ การเอาขันธ์ห้า ไปปรุงแต่งเพื่อจะเอา จึงเป็นตัวตน ต้องปล่อยมันเกิดเอง ดับเอง อย่าไปสนใจอารมณ์ภายนอกเรื่องรูป รส กลิ่น เสียงฯ อย่าจมแช่กับอารมณ์ที่ว่าง เบา สบาย ภายใน
ให้ดูที่ผู้รู้ที่เป็นตัวเรา ที่เป็นการทำงานของ เวทนา สัญญา สังขาร (เจตสิก) และวิญญาณขันธ์หรือผู้รู้ ที่เขาทำงานร่วมกัน เมื่อวิญญาณไปรับรู้เอาผัสสะทางประตูใดประตูหนี่ง เพียงเสี้ยววินาทีเดียว ก็จะส่งต่อให้ เวทนา สัญญา สังขาร นึก คิด ปรุงแต่ง พากษ์ บ่น ในใจ
แล้วมีวิญญาณตัวใหม่เกิดขึ้นมารับรู้อีก เป็นอย่างนี้เรื่อยไป เจตสิก และวิญญาณขันธ์ เกิดพร้อมกัน ดับพร้อมกัน ที่ “ใจ” ที่เป็นความว่าง ที่ไม่มีอะไรนั้นเอง
เมื่อรู้แล้ว ให้ปล่อยวางมันไป ปล่อยไปทั้งยวง
การปล่อยวาง ง่าย ๆ แค่รู้เท่าทันว่าเป็นสังขารปรุงแต่ง เป็นขันธ์ห้า ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา มันก็กลายเป็นใจโดยปริยาย และ รู้ โดยไม่ได้ตั้งใจไปรู้ด้วย
เมื่อตั้งใจไปรู้ ก็จะเป็นวิสังขารทันที เพราะเป็นเอาตัวเราไปรู้ อ๋อ นี่คือ “ญาณตามหลังธรรม” เป็นเช่นนี้นี่เอง
จิตคิดต่อไปว่า เราเคยรู้เคยเขียนมาตั้งนานเป็นปีแล้ว เรื่องของสังขารและวิสังขาร แต่มันไม่แจ้งแบบนี้ แบบนั้นเป็นการใช้สมองคิดขึ้นมาด้วยความเข้าใจ แต่นี่มันรู้ขึ้นมาเอง เป็นธรรมจริงผุดขึ้น
ต้องทิ้งเรื่องอื่นให้หมดมา “กัดติดจดจ่อ” สภาวะตรงนี้ดีกว่า มิเช่นนั้นจะเสียโอกาส
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จะต้องฟังธรรมหลวงตาทันทีเพื่อต่อให้ติด จึงเลือกฟัง “เสียงแห่งความเงียบ”
ซึ่งเคยฟังมาแล้ว แต่ไม่ถึงใจ หลวงตาท่านได้เปรียบเทียบใจเป็นความว่างคล้ายจักรวาลพอดี เหมือนไม่ใช่บังเอิญ ?
จากนั้นก็ฟังธรรมใหม่ของวันนี้ เป็นของคุณหมอวัย 91 ปี พบธรรม มันช่างสอดคล้องกับความต้องการพอดี จึงฟังจนหมดทุกไฟล์
จากนั้นอ่านหนังสือ จบเสียที เป็นครั้งที่สาม เข้าใจหมด แจ่มแจ้ง
แล้วก็น้อมเข้ามาใส่ตัว โยมไม่มีอาการปีติ ขนลุก ไม่มีความรู้สึกว่า อะไรเราหลุดไป หรือ อาการโลกธาตุดับ
เป็นเพียงการเกิดความรู้ความเข้าใจ ที่ได้พบ “ใจ” เป็นความไม่มีอะไรเลย มีแต่ความว่าง เงียบ นิ่ง มีลักษณะแบบนี้นี่เอง
สติ ปัญญา มันบอกว่า ให้ดูไปเรื่อย ๆ ก่อน อย่าหลงไปเป็นสังขารที่มันนึกคิดเชียว มันก็ตอบว่า ไม่หลงหรอก รู้เท่าทันแน่นอน แน่ะ
เพราะรู้ว่าสิ่งใดกระดุกกระดิกได้ เคลื่อนไหวได้ เป็นสังขารทั้งหมด สังขารทั้งหลาย เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
“ใจ” กระดุกกระดิกไม่ได้ ได้แต่ “รู้” ใจ เป็นอนัตตา เป็นสูญญตา อย่าไปอยากเป็นใจ วิสังขาร เดี๋ยวมันจะเป็นตัวตนขึ้นมาอีก ตัวตนที่แท้จริงไม่มีนะ เราไม่มี ไม่มีเรา เป็นเพียงความหลงผิด เราเป็นอนัตตา
“ใจ” รู้เท่าทันแล้วว่า ใจมีหนึ่งเดียว ได้แต่รู้ นึกคิดปรุงแต่งไม่ได้ เพราะใจคือความว่าง เป็นอนัตตา
ความนึกคิดต่าง ๆ นั้น ล้วนเป็นสังขารปรุงแต่ง ที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับแน่นอน ตาม “สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมดย่อมดับไปเป็นธรรมดา”
ดัง “สัพเพ ธัมมา นาลัง อภินิเวสายะ” “สิ่งทั้งหลายทั้งปวง อันใคร ๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” (ว่าเป็นของเรา เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา) เพราะมันเป็นอนัตตา มันจึงไม่ใช่ของของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เราก็เป็นอนัตตา
“สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายทั้งรูปและนาม ไม่เที่ยง” สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา
“สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวง (รวมทั้งพระนิพพาน) เป็นอนัตตา” เป็นมหาสุญญตา
เพราะฉะนั้น ทุกสรรพสิ่งเป็นอนัตตา
อนัตตา คือ ความว่าง ความว่างเปล่า ไม่มีอะไรเลย จึงไม่มีอะไร ที่จะไปยึด อะไร
ธรรมที่เคยศึกษา มันโผล่มา ๆ เจ้าค่ะ
แค่รู้ เท่าทันสังขาร ปล่อยสังขารมันเกิดเอง ดับเอง ไม่ยึดสังขาร และวิสังขารด้วย ไม่ยึดอะไรทั้งนั้น เมื่อไม่ยึดติดอะไรเลย ผู้ยึดก็จะสิ้นไปเอง จึงไม่ไปเพ่ง ไม่ไปจ้อง ไม่ไปพยายาม แต่ก็เดินจงกรม ดูกาย ดูใจ และนั่งสมาธิตามปกติ
ต่างกันตรงที่คราวนี้ทำไปโดยไม่หวังจะไปเอาอะไร เพียงรู้เห็นสังขาร ความนึกคิดมันเกิด ๆ ดับ ๆ ท่ามกลางใจเท่านั้น นี่ก็คือ การอยู่กับ “รู้” นั่นเอง
เขียนมายาวเหยียด เพราะเวลาหลายวันแล้ว มันผุดมาก็เขียน ขอองค์หลวงตาโปรดเมตตาชี้แนะเจ้าค่ะ กราบขอบพระคุณยิ่ง
ด้วยความเคารพพ่อแม่ครูบาอาจารย์องค์หลวงตาเป็นอย่างยิ่ง
ขอน้อมกราบด้วยเศียรเกล้า
กราบ กราบ กราบ
หลวงตา : มันยังหลงยึด “ใจ” เป็นตัวเรา เป็นของเรา
ผู้ถาม : หลงยึดถือตัวเองมานานมากเลยเจ้าค่ะหลวงตา เพราะมันยึดถือ ของที่มันไม่ดี มันพยายามให้มันดีให้ได้
เมื่อก่อนมันยึดข้างนอก ยึด ๆๆๆๆ สารพัด พอปฏิบัติ มันเข้าใจความจริง จึงได้รู้ว่า ข้างนอกที่ยึดนั้น เป็นเพราะมันยึดตัวเอง จะให้ข้างนอกดี ตัวเองจะได้ดี จะปฏิบัติมัน ปล่อย ๆๆๆๆ อะไรก็ได้ ยอมทุกอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่มันไม่เคยปล่อยจริง ๆ เลย คือ มันไม่ยอมปล่อยตัวมันเองให้เป็นอิสระเลย
ความจริงที่อยู่ตรงหน้า มันทำใจไม่ได้ที่จะยอมรับ และมันพยายามแก้ไขตัวเองตลอด
จริง ๆ แล้ว สิ่งนี้เองที่ทำให้ตัวเราเป็นทุกข์มานานมาก นานยาวนานจริง ๆ เหมือนคนที่มีห่วง มีกังวลอยู่ลึก ๆ ตลอดเวลา ต่อให้ปฏิบัติแค่ไหน รู้ธรรมเท่าไหร่ ความทุกข์ในหัวใจ มันกลับยังไม่หายไป เพราะความยึดนั่นเอง
ก็แค่อนุญาตให้ตัวเองเป็นอิสระ ไม่ต้องยึด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลในสิ่งที่มันเป็นอะไรใด ๆ ทั้งสิ้น ความทุกข์ที่อยู่ลึก ๆ มันก็หายไปแล้ว
เหมือนหนามมันถูกบ่งออก มันน้ำตาไหลเป็นช่วง ๆ เพราะแผลที่ถูกหนามทิ่มมันยังเปิดอยู่ มันยังไม่ปิดสนิท แต่รู้แก่ใจ ว่าตรงนั้น หนามได้หมดออกไปจากใจแล้ว ความทรมานทั้งหมดมันกำลังจะจบสิ้น
ไม่อยากเอาหนามเข้ามาทิ่มแทงใจอีกแล้วเจ้าค่ะ
ปุจฉาวิสัชนาเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2563